ผู้เขียน: ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

ปัญหาโลกแตกที่คนรุ่นใหม่กลับบ้านต้องเจอ คือ “เรื่องความมั่นคงของชีวิต” โดยเฉพาะกลุ่มศิลปินกลับบ้าน ที่ใช้ทักษะความสามารถทางด้านศิลปะเพื่อเอาตัวรอดในบ้านเกิด นับเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่ง เนื่องจากด้วยทักษะที่พวกเขามี อาจไม่ได้ตอบโจทย์กับแหล่งงานในชุมชนมากนัก โดยเฉพาะทัศนคติของคนในชุมชน ที่ยังคงปิดกั้นเส้นทางอาชีพสายนี้ว่า “ไม่อาจสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้”

แต่กระนั้น ก็มีศิลปินที่สามารถอยู่รอดและอยู่ร่วมในบ้านเกิดได้จริง พวกเขามีกลยุทธ์ในการเอาตัวรอดอย่างไรบ้าง ติดตามได้ที่นี่

ใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า

“แซ็ค” สุกฤต ปิ่นเพชร เจ้าของเพจ ‘ธรรมมือสตูดิโอ’ แห่งบ้านห้วยหูด อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ ผู้กลับบ้านเพราะวันหนึ่งได้ดูพระอาทิตย์ตกดิน เห็นแสงค่อย ๆ ลับทุ่งนาอย่างว้าเหว่ จึงเกิดความรู้สึกอยากอยู่บ้าน ด้วยจิตวิญญาณและแรงศรัทธาว่า “ต้องการให้บ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับจิตใจของตัวเอง

กลยุทธ์ในการอยู่รอดของแซ็คมี 3 ประเด็นที่สำคัญคือ

  1.  เพื่อน
  2. ทรัพยากรชุมชน
  3. การทำงานเพื่อชุมชน

ด้วยความที่เกิดและเติบโตขึ้นในชุมชนบ้านเกิด แซ็คจึงมีความผูกพันกับชุมชนของตัวเองเป็นอย่างมาก เขาได้เห็นความงามผ่านวิถีชีวิตของชาวบ้าน บนพื้นที่อันเต็มไปด้วยทรัพยากรที่หลากหลาย

“เราต้องเข้าใจตัวเอง หมั่นถามตัวเองว่าต้องการอะไร แล้วคำตอบจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา” แซ็คกล่าว

ดังนั้นแซ็คจึงนำทรัพยากรที่มีมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า เช่น การจัดกิจกรรมเพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต ของคนในชุมชน หรือการสร้าง “space” พื้นที่ปลอดภัยสำหรับให้เด็กและเยาวชนได้เกิดการเรียนรู้ผ่านการสร้างงานศิลปะ โดยได้รับงบประมาณจากแหล่งทุนที่ให้การสนับสนุน และอยากเห็นชุมชนของเขางอกงามตามวิถีของมันต่อไป

แต่ถึงกระนั้น อุปสรรคข้อสำคัญที่สุดคือ “เรื่องเงิน” แซ็คแนะนำว่าเราต้องรู้ว่าในแต่ละเดือนเราสามารถหาเงินผ่านช่องทางไหนบ้าง ที่จะช่วยให้เรามีเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแซ็คใช้วิธีโปรโมทชิ้นงานผ่านหน้าแฟนเพจธรรมมือสตูดิโอ แต่ก็ไม่สามารถยืนยันรายได้ที่แน่นอนนัก

แซ็คจึงแก้ปัญหาด้วยการทำงานคล้ายกับ Ngo ผ่านโปรดักส์ที่สอดคล้องกับทรัพยากรที่มีในชุมชน ด้วยการถักทอสิ่งที่ตัวเองคาดหวัง โดยใช้ทักษะและพรสวรรค์ที่ตัวเองมี เชื่อมต่อชุมชนกับผู้คนผ่านงานศิลปะอันแฝงไปด้วยปรัชญาชีวิต ซึ่งปรากฏชัดในงานศิลปะที่เขาสร้างขึ้นมา

รู้วิธีสร้างแบรนด์ให้ตัวเอง

         หลังเรียนจบปริญญาตรีได้ไม่นาน  “ประหยัด เสือชูชีพ” ศิลปินท้องถิ่นแห่งชุมชนบ้านแม่ปอคี (อ.ท่าสองยาง จ.ตาก) ก็เลือกหันหลังให้เมืองใหญ่ เพื่อกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดอีกครั้ง

ในฐานะคนรุ่นใหม่ผู้สานต่อบทเพลงภาษาท้องถิ่น ผ่านเครื่องดนตรีอย่าง “เตหน่า” ที่มีเสียงไพเราะจากภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอ ที่เริ่มได้รับความสนใจงจากเยาวชนน้อยลง ประหยัดรู้ดีว่าเขาต้องเผยแพร่วัฒนธรรมที่งดงามนี้ให้คงอยู่ในชุมชนต่อไป

ประหยัดจึงใช้ดนตรีเป็นสื่อกลางในการนำเสนออัตลักษณ์ท้องถิ่น เช่น วิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ จิตวิญญาณของผู้คน ผ่านสำเนียงร้องแบบปกาเกอะญอได้อย่างตรึงใจ

แต่ก็ติดปัญหาเรื่องการจ้างงานที่ไม่สามารถคำนวณได้ว่าในแต่ละเดือน จะมีผู้ว่าจ้างให้ไปเล่นดนตรีที่ไหน อย่างไรบ้าง นำมาซึ่งปัญหารายได้ที่ไม่แน่นอน ซึ่งในช่วงแรก ๆ เขาก็ท้อใจอยู่บ้างพอสมควร

ประหยัดจึงคิดหาทางออกด้วยการสร้างแบรนด์ “ชอเดอ” เพื่อเป็นช่องทางในการหารายได้อีกทาง

ชอเดอ เป็นแบรนด์สินค้าที่ประหยัดสร้างขึ้นร่วมกับคนในชุมชน จำหน่ายสินค้าจากผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อาทิ ชาฮ่อหว่อ, น้ำพริกรสข่า, น้ำพริกรสปลาแห้ง เป็นต้น เขาจะนำสินค้าดังกล่าวติดตัวไปจำหน่ายด้วยทุกครั้งที่มีการแสดงดนตรีตามสถานที่ต่าง ๆ

“ทุกครั้งที่มีการแสดงผมจะนำแบรนด์ชุมชนไปขายด้วย เป็นการเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านบทเพลง และสินค้าของพี่น้องชาวปกาเกอะญอให้คนภายนอกได้รับรู้ถึงวิถีชีวิตของเรา และทุกที่ที่ผมไปก็สร้างความประทับใจให้คนดู และจดจำได้ว่าเราเป็นใคร”

การสร้างแบรนด์เพื่อสร้างตัวตนให้ผู้อื่นจดจำได้ง่าย จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ประหยัดใช้เพื่ออยู่รอดในบ้านเกิดของเขา ซึ่งในเวลาต่อมา มันช่วยให้ประหยัดมีตัวตนในชุมชนของเขา นอกจากนี้ ยังช่วยให้ประหยัดเป็นที่รู้จักของผู้คนภายนอกมากขึ้น เขาจึงสามารถอยู่รอดในชุมชนได้อย่างมีความสุข และมีคุณค่าอีกด้วย

สรุปบทเรียน

จากแนวทางดังกล่าว เราสามารถถอดบทเรียนของศิลปินรุ่นใหม่กลับบ้านทั้ง 2 ท่าน สรุปออกมาได้ดังนี้

  1. การวางแผนทางการเงินเป็นสิ่งสำคัญ
  2. เราไม่อาจอยู่รอดในชุมชนได้ หากปราศจากเพื่อนร่วมทาง
  3. การสร้างตัวตนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้ผู้คนเข้าใจผลงานของเรามากขึ้น
  4. ใช้ศิลปะทำงานเพื่อชุมชน
  5. จงค้นหาตัวเอง และรู้ว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง
  6. ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค
  7. อย่าหยุดแสวงหาความรู้ หรือช่องทางใหม่ ๆ ให้กับการสร้างผลงานของตัวเอง

ด้วยแนวทางดังกล่าว เป็นวิถีการอยู่รอดในชุมชนของศิลปินกลับบ้านทั้ง 2 ท่าน ที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การกลับบ้านไม่ได้เป็นเรื่องของคนเพียงคนเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงคนอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนของเราด้วย

ดังนั้นการจะอยู่รอดและอยู่ร่วมในชุมชนให้ได้นั้น จึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ และวิธีการของเราว่าจะสามารถรับมือกับชุมชนของเราได้มากแค่ไหน ซึ่งหากคุณรู้สึกว่ากำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่มีความคล้ายคลึงกับทั้ง 2 ท่านอยู่ แนวทางดังกล่าวอาจสามารถช่วยคุณได้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน