จุดเริ่มต้นการกลับบ้านของ “แซ็ก”

ชายหนุ่มผู้ใช้ศิลปะเพื่อคุยกับตัวเอง ผู้บอกเล่าความสงบและความรุ่มรวยของธรรมชาติรอบบ้านเกิดผ่านการลง story บน facebook ปัจจุบันกลับมาอยู่บ้าน ณ หมู่บ้านห้วยหูด อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ได้ราว 3 ปี
แซ็กมีความตั้งใจกลับบ้านเพื่อ “สร้างบ้าน” ของตัวเอง แต่บ้านในที่นี้ไม่ใช่เพียงพื้นที่สำหรับการกิน อยู่ นอน หลับ หากต้องเป็นพื้นที่แห่งการเชื่อมโยง ถักทอ และโอบอุ้มผู้คนผ่านงานศิลปะ ภายใต้บ้านที่ชื่อ “ธรรมมือโฮม” บ้านที่จะสามารถเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ผู้มาเยือนได้เป็นตัวเอง พื้นที่ที่จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ หรือพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เรื่องที่เพื่อนมีทั้งความสุขและความทุกข์ซึ่งอยากมีใครสักคนรับฟัง

“อะไรที่ทำให้เรารู้สึกว่ากลับบ้านดีกว่า”

“จริงๆ อยากกลับบ้านอยู่แล้ว ก่อนหน้าทำมหาลัยทางเรื่อง แล้วเหมือนโปรเจคใหม่มหาลัยมันไม่ได้ไปต่อ มันเกิดปัญหาและตัดสินใจไม่ได้ไปต่อกันที่ปากช่อง ก่อนหน้านี้อยู่ปากช่องมาสามปี พอไม่ได้ทำโปรเจคมหาลัยแล้วก็เลยได้เวลากลับมาอยู่บ้าน ตั้งใจกลับมาทำ space ของตัวเองที่บ้านนี่แหละ เราอินเรื่อง space พื้นที่ปลอดภัย และตอนเราอยู่มหาลัยความรักและธรรมชาติเราได้ค้นพบตัวเองที่นั่น เรารู้สึกว่าการที่อยู่เป็นชุมชน มีคนคอยรับฟัง คอยซัพพอร์ตเรา มันจำเป็น”

“พื้นที่ที่แซ็กตั้งใจกลับบ้านมาทำมันเกิดขึ้นหรือยัง”

“เกิดขึ้นแล้วแค่ยังไม่สมบูรณ์ คือมันยังไม่เรียบร้อย ตอนนี้เรามีบ้านของเราอยู่เอง สองชั้น เป็นบ้านดิน ขนาดประมาณ 3 เมตร x 3 เมตร 50 บ้านดินกึ่งไม้ มีห้องครัวเล็ก ๆ ข้างหลัง โดยเราสามารถดำเนินกิจกรรมของเราได้ประมาณหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้พร้อมอะไรมาก ตั้งโครงสร้างสตูดิโอไว้แล้ว ลงเสาสำหรับจะทำอาคารกิจกรรม หรือพื้นที่สำหรับทำทริป หรือทำเวิร์คชอพ ให้เพื่อนมานอนชั้นสองได้ ส่วนเด็ก ๆ และเยาวชนในชุมชนสามารถมาทำกิจกรรมชั้นล่างได้ ชั้นล่างอาจจะยังไม่สำเร็จ แต่ถ้าสตูดิโอมันเรียบร้อยกว่านี้ หมายถึงว่ามีความพร้อมในการทำงานมากกว่านี้ ตอนนี้มีแค่หลังคาเปล่า ๆ ถ้าอาคารมีเรียบร้อยมันก็จะสามารถพูดได้ว่า space เรียบร้อยแล้ว แต่ว่าตอนนี้เป็นรูปเป็นล่างเรียบร้อยแล้ว แล้วก็เดือนนี้ สิงหาคม เราจะเปิดรับอาสาสมัครมาทำสตูดิโอ ช่วยปั้นผนัง ผสมปูน เทพื้น ช่วยเรา แลกกับการที่เราจะพาเที่ยวรอบ ๆ บ้าน ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคมเป็นต้นไป เราอาจจะซัพพอร์ตอาหารบางส่วน พาไปพื้นที่ธรรมชาติรอบ ๆ บ้านที่เราเชื่อมโยงอยู่ อาจจะมีพาทำกิจกรรมกับเด็กและเยาวชนบ้าง แต่หลัก ๆ ก็จะให้มาเรียนรู้ทำบ้านดินไปด้วยกัน Space ที่เป็นสตูดิโอ”


“กลับบ้านไปเจออุปสรรคหรือข้อกังขาอะไรของคนในชุมชนไหม”

“หลัก ๆ ก็เป็นคำถามจากข้างนอกว่ากลับมาแล้วทำอะไร ทำไม แต่ส่วนใหญ่ของบ้านเราอาจจะเป็นเพราะว่าเราเริ่มทำกิจกรรมอะไรแบบนี้มาสักพักแล้วด้วย ตั้งแต่เราอยู่ประถม เราเคยรวมกลุ่มเด็ก ๆ ในชุมชนทำเห็ดปลูกผักกันอยู่บ้าง เขาก็เริ่มมองเห็นเราที่เราทำงานสายนี้มาประมาณนึง คนในชุมชนก็ไม่ได้มีลักษณะมาถากถางอะไรเรา แต่มองว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ ทำอะไรในชุมชน ส่วนมากถ้ามีคนแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้านก็จะเป็นแกงค์เพื่อนเราที่มา สภาพแบบติสๆ ผมยาว มันก็จะแปลกหน้าแปลกตากับคนในชุมชนบ้าง มันก็จะมีบางช่วงที่เรามีปัญหากับเขาบ้าง เช่นช่วงทำกิจกรรม เพราะคนเป็นผู้นำชุมชนไม่เข้าใจเราว่าเรามาทำอะไร ก็มีบ้าง แต่ก็แก้ไปตามเหตุปัจจัย”

“แซ็กมีเป้าหมายที่อยากสร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชนเชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร”

“ถ้าเป็นความตั้งใจเรา เราอยากทำ space ที่เชื่อมโยงผู้คน โดยมีเครื่องมือคือศิลปะ ปกติเราใช่ศิลปะของเรานอกจากการสร้างงานมันเป็นเชิงศิลปะกับการบำบัด กับการคุยกับตัวเอง กับการเชื่อมโยงตัวตนภายใน ใช้ศิลปะเพื่อคุยกับตัวเอง เราอินเรื่องนี้ด้วย แล้วก็เรื่องธรรมชาติ ลักษณะการใช้ธรรมชาติในการบำบัด ทำให้เราได้กลับมาอยู่กับตัวเอง โดยมีชุมชนเป็นฐาน อาจจะมีเรื่องวัฒนธรรมชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านที่พาเดินป่า ที่เป็นภูมิปัญญากิจกรรมเยาวชนแทรกเข้ามาด้วย มันก็จะมี 3 หน่อหลัก ๆ ของเราเป็น space ที่เชื่อมโยงผู้คน และก็มีเครื่องมือสามก้อนนี้ในการออกแบบกิจกรรมหรืออยู่ในขบวนการที่เราจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ใน Space ของเรา จริง ๆ ไม่รอพร้อม คือเราจะทำทริปไปเรื่อย ๆ เลย ให้มันไปสู้การทำ space แล้วก็มี product เหมือนที่เราจะทำใน life project เรื่องเซรามิก และมี product ในชุมชนบางส่วนด้วย พอเปิด space เราก็จะมี product ที่เราพร้อมให้เขามาซัพพอร์ตเราได้ ช่วยซื้อ product ในชุมชน ของเราเอง ของทำมือที่เป็นเซรามิก มันสามารถซัพพอร์ตได้ในทางนี้หรือว่ามาแจมทริปเรา เราก็จะพัฒนาทริปให้เก็บตังเพื่อกระจายรายได้ให้ชุมชน หรือว่าให้เราอยู่ได้”

ผู้เขียน : สุดารัตน์ เหมศิริรัตน์

แซ็ก สุกฤต ปิ่นเพชร
อาสาคืนถิ่นรุ่น 6 จังหวัดอุตรดิตถ์