การกลับบ้านไม่ได้แปลว่าเราล้มเหลว แต่เป็นการกลับไปทำความรู้จักตัวเองอีกครั้ง

คนนอกในบ้านเกิด

ฉ๊ะเกิดมาเป็นเด็กไร้สัญชาติในพื้นที่ประเทศไทย บนเกาะทุ่งนางดำ จังหวัดพังงา ทำให้ครอบครัวต้องส่งไปอยู่กับย่า และยกให้เป็นลูกคนอื่นในทางนิตินัยเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่าที่เป็นอยู่ เติบโตและใช้ชีวิตวนเวียนอยู่ในเมือง ดังนั้นความเข้าใจคำว่า “บ้าน” ณ เวลานั้นจึงเป็นเพียงสถานที่ทางกายที่ฉ๊ะไม่เคยนึกถึง

“ก่อนหน้านี้ด้วยความที่เป็นคนที่ออกเดินทางตั้งแต่เด็ก ออกเดินทางของเราก็คือออกเดินทางผ่านกระบวนการการต่อสู้ในประเด็นของคนไร้สัญชาติ ชาติพันธุ์ แล้วก็ปัญหาเชิงโครงสร้างอะไรอย่างนี้ มันก็เลยทำให้เราเป็นเด็กส่งออก ที่ก็ต้องออกจากบ้านมาตั้งแต่เด็ก เริ่มจากอยู่ในครอบครัวที่อยู่บนเกาะ ไม่มีสัญชาติ แม่ก็เลยส่งไปอยู่กับย่า แล้วในช่วงนั้นมันเป็นความเข้าใจผิดกันว่าเป็นคนที่พ่อแม่ไม่รักก็เลยต้องมาอยู่กับคนอื่น”

“เราถูกยกให้เป็นลูกคนอื่นเพื่อที่จะได้เข้าโรงเรียน ตลอดระยะเวลาตรงนั้นมันเหมือนถูกผลักไสจากครอบครัว เป็นความรู้สึกแบบนั้น แล้วก็ไม่คิดว่าอยากจะกลับไปบ้านที่เป็นบ้านของตัวเอง คำว่ากลับบ้านจริง ๆ รู้สึกแค่กลับไปเพราะหน้าที่ที่ต้องกลับไป กลับไปเพราะเป็นเทศกาล แต่ไม่ได้อินกับการกลับบ้านขนาดนั้น ไม่ได้รู้สึกว่าทำไมต้องกลับ”

ถึงเวลาพาตัวเองกลับบ้าน

เพลงแรงก้อนสุดท้าย – มนต์แคน แก่นคูน ถูกเปิดคลอไปกับท่วงทำนองการแล่นของรถเมล์ กระตุ้นความคิดคะนึงถึงบ้านที่จากมา

“…ปรับขนาดความฝันให้เล็กลง ให้มันตรงกับที่เราทำได้ เก็บแรงก้อนสุดท้ายกลับไปหา ไปกอดความสุขใจที่บ้านเฮา…” (เสียงขับร้องที่เข้ามากระแทกใจของฉ๊ะในเวลานั้น)

เมื่อใจคิดถึงหาบ้านเกิดเสมอมา จึงถึงเวลาตัดสินใจที่จะพาตัวเองกลับบ้าน

“เพลงมันก็บอกเล่าประมาณว่าทำไมต้องอยู่ที่นี่ ถ้าบ้านนอกมันก็ยังสวยอยู่นะ แค่เราลองเปิดใจยอมรับมัน มันเหมือนยอมรับความเป็นตัวตน ไม่ใช่ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความฝัน ในขณะที่มีความฝันแต่ก็ต้องมีความจริงอยู่ในนั้น ก็เลยกลับมาตัดสินใจว่าเอาวะ! “กูแม่งไม่ควรจะอยู่ที่นี่แล้ว ที่นี่มันไม่ได้มีอะไรให้ค้นหาอีกแล้ว” ตัดสินใจกลับบ้าน กลับบ้านในที่นี้ก็คือเอาทุกอย่างกลับไป กลับไปอยู่บ้าน ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าจะกลับไปทำอะไร แม่ก็บอกแค่ว่าถ้าไม่รู้จะกลับมาทำอะไรก็กลับมานอนอ่านหนังสือ กลับมาลองอยู่กับตัวเอง ถ้ามันอยู่ไม่ได้แล้วจะไปต่อก็ค่อยว่ากัน หรือว่าจะเอายังไงกับชีวิตก็ค่อยว่ากัน”

กลับมาทำอะไร

แม้ครอบครัวจะพร้อมอ้าแขนรับฉ๊ะกลับบ้าน แต่ก็ใช่ว่าคนในชุมชนจะไม่ตั้งคำถามต่อการกลับมาดังกล่าว ด้วยค่านิยมของสังคมที่ยอมรับการเข้าไปทำงานในเมือง ซึ่งสะท้อนความมั่นคงในชีวิตมากกว่าการเรียนจบแล้วมาอยู่กินในชุมชนบ้านเกิดของตัวเอง และบ่อยครั้งถูกมองว่าเป็นผู้ล้มเหลวให้กับระบบ

“คำถามที่กลับไปบ้านแล้วเจอก็คือ “กลับมาทำไม” หมายถึงไม่ใช่ครอบครัวนะ คนในชุมชนก็จะถามว่ากลับมาทำไม อยู่นู่นก็เห็นมีอนาคตที่ดีแล้ว มีนู่นนี่นั่น”

อย่างไรก็ตาม การกลับบ้านของฉ๊ะไม่ได้กลับไปเพื่อตัวเองโดยเฉพาะ แต่ฉ๊ะยังมีความตั้งใจทำให้ชุมชนของตนดีขึ้นกว่าเดิมด้วยชุดประสบการณ์และความรู้ที่ได้จากการออกเดินทางตั้งแต่ยังเด็ก แม้จะมีความมั่นใจว่าจะต้องพบกับอุปสรรคในการเข้าหาเพื่อนร่วมชุมชนครั้งนี้

“เรารู้สึกว่าโครงการอาสาคืนถิ่นหรือว่าการกลับบ้านสำหรับเรามันไม่ได้แค่กลับไปอยู่ในชุมชนนะ แต่ว่าการกลับไปของเรามันควรจะกลับไปพร้อมกับความรู้ พร้อมกับอะไรที่จะทำให้ชุมชนมันดีขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่เราที่ดีขึ้น การกลับบ้านมันทำให้เราดีขึ้น อย่างน้อยไม่ได้ร่ำรวยทางการเงิน แต่มันรุ่มรวมทางจิตใจ คือมันมีจิตใจที่ดีขึ้น สภาพจิตใจดี โอเค สดใสขึ้น เรามั่นใจในตัวเองแล้วว่าเราจะกลับไปอยู่บ้าน อาจจะสองปีสามปี อาจจะไม่ได้อยู่เต็มที่ แต่มันก็เป็นช่วงเวลาที่ต้องพัฒนาตัวเอง เพราะว่าการกลับไปอยู่บ้าน อยู่ในชุมชนตัวเองมันยากมากเลยนะ เพราะว่าเราจะถูกชุมชนมองว่าเรายังเป็นเด็กอยู่ แล้วมึงจะมารู้ดีกว่ากูได้ยังไง เพราะมึงก็เป็นเด็ก”

ผู้เขียน : สุดารัตน์ เหมศิริรัตน์

ฉ๊ะ อาอีฉ๊ะ แก้วนพรัตน์
อาสาคืนถิ่นรุ่น 6 จังหวัดพังงา