เมื่อไก่ป่าขานเรียกไก่บ้าน วิถีชีวิตเริ่มเหือดหาย
ท่ามกลางเสียงกระซิบของใบไม้ที่พลิ้วไหวอยู่ในป่า เสียงเพลงจากนกหลากชนิด ดนตรีประกอบจากน้ำตกที่ขับเคลื่อนชีวิตจากรุ่นสู่รุ่น บนภูเขาที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้คือบ้านเกิดของ “ประหยัด เสือชูชีพ”
ภายใต้ภาพความสงบสุขบนดอยที่นี้ มีเด็กกำลังลืมวิธีอ่านภาษาปกาเกอะญออันเป็นภาษาบ้านเกิด ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกำลังจางหาย หนุ่มสาวกำลังออกไปตามหาความหมายใหม่ อันอาจเป็นความฝันและการเอาชีวิตรอดในเมือง ถนนดินแดงยามฝนตกทำให้คนในชุมชนไปหาหมอได้ล่าช้า พื้นที่จิตวิญญาณของชุมชนกำลังเตรียมประกาศเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ วิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอกำลังเลือนลางไปจากท้องถิ่นภายใต้วิถี “การพัฒนา”
“คนปกาเกอะญอบอกไก่ป่าเป็นอะไรที่เราเลี้ยงไม่เชื่อง เวลาเราเก็บมาเลี้ยง มูลของไก่ป่าเต็มกระบุงมันจะไปก็ไป ไม่หันกลับมา อาหารการกินหมดไปเขาก็หนีไป เป็นอะไรที่ไม่ยอมกลับมาเหลียวแลข้างหลัง ด้วยการพัฒนาต่าง ๆ อันนี้คือไก่ป่าที่เข้าไปในชุมชน เข้าไปแล้วทำให้ท้องถิ่นหายไป มันจะมีบทกวีอยู่บทหนึ่งที่ผมร้องก็คือ ไก่ป่าขานเรียกไก่บ้าน ทำให้วิถีชีวิตเราหายไป ทำให้วัฒนธรรมเรากลืนหายไปกับการพัฒนา”
ชายหนุ่มยังบอกด้วยว่า “วิถีชีวิตวัฒนธรรมการทำไร่หมุนเวียน วัฒนธรรมบางสิ่งบางอย่างแม้แต่การแต่งกาย การทอผ้า บทกวีเหล่านี้เมื่อก่อนรู้สึกว่าคนในชุมชนเขาเก่งเยอะมาก แต่ทุกวันนี้มันหายไปพร้อมกับการพัฒนา และการศึกษาทุกวันนี้จริง ๆ ก็ยังไม่ตอบโจทย์กับชุมชนของตัวเองเหมือนกัน เวลาเขาออกหลักสูตรเขาออกในกรุงเทพแล้วกระจายสู่ท้องถิ่น เราถูกปลูกฝังกับประวัติศาสตร์ชาติ ถ้าเราเรียนประวัติศาสตร์ชาติอย่างเดียวเราก็ลืมประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตัวเอง ลืมรากเหง้าของตัวเอง เวลาเรียนภาษาไทย กไก่ ขไข่ เราก็ลืมภาษาเขียนของเรา”
ไก่ป่าขานเรียกไก่บ้าน
บ้านของเราไม่เหมือนเดิม
เมืองของเราไม่เหมือนเดิม
กลับบ้านมาทำไม? คำถามสุดท้าทาย
ความฝันร่วมของหนุ่มสาวในสังคมที่ไม่มีอะไรรองรับความมั่นคงในชีวิตของเราได้เลย ณ แห่งนี้ อาจเป็นการออกตามหาความฝันที่มีความร่ำรวยประกอบอยู่ในนั้น ทว่า ประหยัดที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีได้เพียงไม่นาน กลับมีความตั้งใจว่าจะกลับบ้านไปใช้ชีวิตแบบ “คนปกาเกอะญอ” และมิได้คาดหวังให้ตนเองต้องเข้าไปหาความมั่งคงภายในเมือง แม้นั่นจะหมายถึงการได้รับการยอมรับ และถ้าได้มีโอกาสเป็นข้าราชการ นั่นยิ่งหมายถึงยศถาบรรดาศักดิ์ และความมีหน้ามีตาที่คนในครอบครัวและชุมชนยกยอ
ประหยัดเล่าว่า “การศึกษามันถูกครอบงำ เพราะว่าเวลาเราเรียนเราก็ได้รับหนังสือเรียนมาจากส่วนกลาง เขาก็กระจายมาในแต่ละพื้นที่เขตการศึกษา เราจะถูกปลูกฝังว่า หนึ่งต้องเป็นตำรวจ สองต้องเป็นหมอ สามต้องเป็นพยาบาล สี่ต้องเป็นทหาร ต้องรับราชการ ถ้าได้รับราชการคือมียศถบรรดาศักดิ์”
กับสิ่งที่คิดฝันเสมอ มากไปกว่าพี่น้องปกาเกอะญอมีทางเลือกนอกเหนือไปจากค่านิยมแบบไทยไทยแล้ว พวกเขาควรมีความรู้ในเรื่องสิทธิของตัวเองบ้าง
“คำถามที่ท้าทายสำหรับผมคือกลับบ้านมาทำไม ผมก็ตอบกลับไปว่าอยากกลับมาช่วยดายหญ้า ทำวิถีชีวิต อยู่ในบ้านเหมือนคนที่เขาอยู่กันในชุมชน แต่ว่าทำไมไม่เข้ามาทำงานในเมืองอันนี้รู้สึกว่าถ้าเราเข้ามาในเมืองเราก็ได้เฉพาะตัวเอง คนเดียว ได้เฉพาะครอบครัวของเรา รู้สึกว่าน่าจะก้าวไปพร้อม ๆ กันกับชุมชน”
กฎหมายของรัฐก็ดี แต่ไม่ตอบโจทย์ชุมชน
ทั้งการมองเห็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้าง ซึ่งรัฐมิได้คำนึงบนพื้นฐานของความหลากหลายในหมู่มนุษย์ซึ่งอยู่ร่วมในรัฐชาติเดียวกัน พร้อมกับการรับรู้ถึงความรุ่มรวยทางธรรมชาติและทรัพยากรที่บ้านตัวเองมี เหล่านี้เป็นแรงจูงใจในการกลับบ้านของประหยัดเพื่อมองหาความเป็นไปได้ที่จะนำพาชุมชนไปสู่การพึ่งตัวเองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ประหยัดเล่าถึงชุมชนแถบชายแดนไทย-พม่าของเขาว่ามีต้นทุนหลายด้าน ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและการเกษตร เหล่านี้ล้วนนำไปต่อยอดได้ ภายใต้รากฐานความเชื่อของคนปกาเกอะญอว่ามนุษย์กับมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ และมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมคู่ขนานไปด้วยกันได้
นึกคิดและมองหาทางออกว่าจะรอแต่รัฐมาพัฒนาไม่ได้ ด้วยเพราะตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ต้องพัฒนาชุมชนของตัวเอง
“ผมฝันอยากจะเห็นในชุมชนคืออยากเห็นชุมชนจัดการตัวเองได้ อยู่กับธรรมชาติเหมือนเดิมนี่แหละ บูรณาการกันในชุมชน ทั้งการศึกษาการใช้ชีวิต แล้วก็เรามีการจัดการชุมชนอยู่กับป่าอะไรพวกนี้ เป็นการจัดการที่ดินในชุมชนของตัวเอง ซึ่งจริง ๆ เรามีอยู่แล้วแต่ด้วยโครงสร้างทำให้มันเปลี่ยนไป โครงสร้างทางการเมืองเอง โครงสร้างทางกฎหมาย ทำให้เราจัดการส่วนนี้ยังไม่ได้ เพราะเรายังไม่มีอำนาจขนาดนั้น”
ประหยัดย้ำว่า “กฎหมายของเขามันดีนะ แต่มันไม่ตอบโจทย์กับชุมชน เพราะว่าด้วยเราอยู่ในป่าในเขา พอมันไม่ตอบโจทย์เขาก็มองว่าพวกเราเป็นปัญหา”
บทกวีแห่งความหวัง นำพาไปสู่ฝัน
เตหน่าในมือพร้อมกับบทกวีในหัวใจ จดจำจากการขับร้องของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ท่ามกลางป่าเขา และเสียงสัตว์นา ๆ พันธุ์ ดนตรีเหล่านี้ช่วยบอกเล่าสังคม ประวัติศาสตร์ของชาวปกาเกอะญอ และสืบทอดความเป็นตัวตนของประหยัดได้เป็นอย่างดี นั่นคือ ความเป็นศิลปิน
เลอปว่าเล๊าะคีเป่อยุโดะ
โดะเกอะเซะ
โถะบอโบทู
(บทกวีว่าด้วยการอดทนรอคอยเพื่อได้ในสิ่งที่ดีงาม)
“บทกวีคือบทเพลงที่คนในชุมชนใช้ในพิธีกรรมแต่งงาน งานศพ พูดถึงเรื่องราว การเปลี่ยนแปลง การเมือง วิถีชีวิต แต่การศึกษาและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่เข้ามามีบทบาททำให้บทกวีกำลังจะสูญหายไป ไม่มีคนมาสืบทอด เลยอยากสืบทอดต่อ และสื่อสาร” ชายหนุ่มกล่าว
กับคำถามที่ยังหนีไม่พ้นว่า “คนปกาเกอะญอคือใคร คนกะเหรี่ยงคืออะไร คือใคร ประมาณนี้ เจอมาบ่อยเหมือนกัน มันมีกลุ่มคนก่อนรุ่นผมที่สื่อสารว่าปกาเกอะญอคือใคร แต่ว่าสื่อสารอย่างไร เรียกร้องอย่างไรมันก็ยังไม่เห็นผลสักที รู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันเรียกร้องซ้ำ ๆ เดิม ๆ เวลาคนในเมืองได้รับผลกระทบ อย่างเช่น เกิดภาวะโลกร้อน เกิดหมอกควัน เกิดน้ำท่วมอะไรพวกนี้ เราเป็นคนรับหน้าอยู่แล้ว เขาโทษกลุ่มคนชาติพันธุ์เลย ไม่ได้โทษเฉพาะกลุ่มคนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ชาติพันธุ์อื่นก็โทษเหมือนกัน เขาบอกว่าคนอยู่บนดอยเป็นคนทำลายป่า เป็นคนเผาป่าทำให้เกิดหมอกควันมาถึงกรุงเทพ”
แม้ในตอนนี้ บทกวีส่วนใหญ่ยังคงถูกขับร้องอยู่ในป่าในเขา ซึ่งคนในเมืองไม่มีโอกาสได้ยิน และทำความเข้าใจวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอผ่านท่วงทำนองเหล่านี้ จนเกิดการตัดสินกลุ่มคนชาติพันธ์บนดอยและกีดกันออกจากความเป็น “เรา” ซึ่งในที่นี้หมายถึง “คนไทย”
แต่ไม่ว่าฟ้าจะกว้างหรือทางจะไกลสักเพียงใด สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้คือประวัติศาสตร์ของพี่น้องชาวปกาเกอะญอได้ถูก “ประหยัด เสือชูชีพ” รับช่วงต่อแล้ว ชายหนุ่มผู้เปี่ยมด้วยความหวังและความฝัน
ผู้เขียน : สุดารัตน์ เหมศิริรัตน์
ประหยัด ประหยัด เสือชูชีพ
อาสาคืนถิ่นรุ่น 6 จังหวัดตาก