เมื่อเมืองหลวงไม่ใช่สถานที่อันใฝ่ฝัน การกลับบ้านจึงเป็นคำตอบ

“พันธุ์เจีย” เป็นฟาร์มออแกนิคที่อุดมไปด้วยพืชผักนานาชนิด และไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับทำเกษตรเท่านั้น แต่ยังเป็นแหล่งโอบอุ้มชีวิต จิตใจ และความฝันของ นันจีรนันท์ บุญครอง หนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่เลือกกลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิด

นันเล่าให้ฟังว่า เธอตัดสินใจไปเรียนปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ เพราะไม่อยากอยู่บ้าน อยากออกไปเจอสังคมเมือง อยากสำรวจว่าโลกภายนอกชุมชนเป็นอย่างไร จึงตัดสินใจเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ แต่กลับเป็นวิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตร ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่บ้านเกิดของเธอโดยตรง

นันพบว่ากรุงเทพฯไม่ใช่สถานที่ในแบบที่เธอใฝ่ฝัน รวมถึงการได้เรียนเศรษฐศาสตร์การเกษตรก็ทำให้เธอโหยหาชีวิตที่บ้านเกิดอีกครั้ง เธอคิดถึงกลิ่นดินและกองฟางที่เคยวิ่งเล่นเมื่อสมัยเด็ก ดังนั้นตลอดเวลาที่ใช้ชีวิตในเมืองหลวง นันจึงคิดจะกลับบ้านตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

“เรารู้สึกว่าในเมืองไม่ใช่ที่ของเรา การอยู่เมืองหลวงไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ถึงเราหายไปสักคน กรุงเทพฯก็ยังเหมือนเดิม แต่ถ้าเรากลับบ้าน เราเห็นได้เลยว่ามันช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในชุมชนของเราได้จริง” นันกล่าว

หลังเรียนจบคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ไม่ถึงปี นันมีโอกาสไปฝึกประสบการณ์พิเศษที่ ไร่รื่นรมย์ จังหวัดเชียงราย ที่นี่บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความคิดที่ยากกลับบ้านให้แก่นันมากขึ้นไปอีก

เนื่องจากไร่รื่นรมย์เป็นฟาร์มเกษตรแบบครบวงจร บนพื้นที่สีเขียวอันรื่นรมย์ สายลมแห่งความหวังได้พัดพาให้นันได้เห็นว่า ธุรกิจเกษตรสมัยใหม่แบบครบวงจรสามารถช่วยให้เธอและชุมชนเติบโตขึ้นได้อย่างไรบ้าง นันจึงใช้ไร่รื่นรมย์เป็นต้นแบบของการกลับบ้านของเธอเสมอมา

ทำให้ช่วงต้นปี พ.ศ. 2562พันธุ์เจีย’ – Pangaea Organic Garden ได้กำเนิดขึ้นภายในพื้นที่บ้านของนันเอง เธอได้รับเมล็ดพันธุ์จากไร่รื่นรมย์มาทดลองปลูก อาทิ เมล็ดสลัด ถั่วดาวอินคา ถั่วบราซิล ต้นกล้าเก๊กฮวย เป็นต้น

แต่ด้วยสภาพพื้นที่ที่แตกต่างกันทำให้ในช่วงแรกของการปลูก นันต้องพบปัญหาที่ไม่สามารถปลูกผักได้ตามเป้าหมายที่วางไว้

“เราเจอปัญหาเรื่องดิน แม้จะเรียนปรุงดินมา แต่ก็ไม่ง่าย เพราะสภาพดินไม่ดี แห้ง แถมพื้นที่โล่ง เจอแดดร้อนก็ทำให้ยากต่อการปลูก สภาพดินเป็นดินเหนียว ไม่มีธาตุอาหาร เพราะเป็นดินชั้นล่างที่ได้จากการขุดสระ เมื่อถึงฤดูแล้ง ดินแห้ง แข็ง พอถึงฤดูฝนดินเหนียว ระบายน้ำไม่ดี เรื่องน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการทำเกษตร พอไม่มีระบบน้ำที่คอยอำนวยความสะดวก การต้องใช้บัวตักน้ำในสระมารดแปลงผักก็เป็นเรื่องลำบากมากพอสมควรในช่วงแรก พอมาทำเองจริง เรารู้เลยว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีไปตามความเหมาะสมของพื้นที่”

นันค่อย ๆ เก็บเงินจากการขายผักมาพัฒนาฟาร์มของเธอไปทีละขั้น พร้อมกับหารายได้ทางอื่นไปด้วย เธอเริ่มปรับเปลี่ยนวิธีการจากเล็กไปใหญ่ จากน้อยไปมากจนสามารถเปลี่ยนพื้นที่ที่เคยแห้งแล้งมาเป็นสวนผักอันเขียวชอุ่มได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

ถึงกระนั้น ปัญหาอีกอย่างที่นันต้องพบคือเรื่องของคนที่ไม่เข้าใจในการกลับบ้านของเธอ แต่นันก็เลือกที่จะไม่โต้ตอบอะไรมากนัก

“มีอยู่บ้างเหมือนกันที่มีคนพูดว่าเรากลับบ้านเพราะตกงาน หรือหางานทำไม่ได้ แต่เราก็ไม่สะทกสะท้านอะไร เพราะรู้จุดหมายของตัวเองดีว่า เรากลับบ้านมาทำอะไรตั้งแต่แรกอยู่แล้ว”

อย่างไรก็ดี การกลับบ้านของนันเริ่มมีแนวทางชัดเจนขึ้น หลังได้ของบประมาณและเข้าร่วมโครงการในการพัฒนาชุมชนบ้านเกิดกับภาคีเครือข่ายสนับสนุน เช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) รวมไปถึงมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.)

นันรู้ดีว่า การกลับบ้านจำเป็นต้องมีเครือข่ายและเพื่อนร่วมอุดมการณ์คอยสนับสนุนในชุมชนด้วย เธอจึงชวนชาวบ้านที่สนใจมาร่วมออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้การทำเกษตรแบบครบวงจรร่วมกัน พอชาวบ้านเห็นว่าปลูกผักแล้วสวย แถมขายได้ ก็เริ่มมีคนสนใจทำเกษตรวิถีใหม่กันมากขึ้น แม้บางคนจะยังไม่เข้าใจว่าเธอปลูกผักสายพันธุ์อะไรอยู่ก็เถอะ

โดยเฉพาะการได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ ‘โครงการอาสาคืนถิ่น’ อันเป็นโครงการที่สนับสนุนให้ผู้คนกลับมาลงหลักปักฐานที่บ้านเกิด ภายใต้แนวคิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้สามารถ “อยู่รอด” และ “อยู่ร่วม” ในชุมชนบ้านเกิดของตัวเองได้

นันจึงออกแบบกระบวนการเรียนรู้ 4 หลักสูตร โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ทั้งด้านอาชีพ ทรัพยากร  และความต้องการ คือ ปลูกผักอินทรีย์, ทำปุ๋ยอินทรีย์, ทำอาหารสัตว์, และแปรรูป โดยเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน และใช้ความสามารถของตนเองในการลงมือปฏิบัติได้อย่างเต็มที่

ซึ่งนันใช้วิธีการหาผู้สนใจในชุมชนมาร่วมกระบวนการ ดังนี้

  1. ใช้ความเป็นลูกหลานเข้าหา
  2. ดูความต้องการของคนทำ ถ้าเขาไม่เอาด้วยก็ไม่ฟื้นบังคับ
  3. หาเพื่อนร่วมทีมตามลักษณะของกิจกรรม และความสามารถของเขา
  4. ชวนเขามาทำ

ผลปรากฏว่ากระบวนการเรียนรู้ที่จัดขึ้น ได้รับความสนใจจากคนในชุมชนมากพอสมควร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนในชุมชนได้เห็นบริบทชุมชนของตัวเองเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น จากที่เคยเป็นชุมชนเงียบเหงา เนื่องจากคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ออกจากบ้านเกิดไปทำงานต่างถิ่น แต่กลับมีคนรุ่นใหม่ที่เลือกกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านอย่างเด็ดเดี่ยว ทำให้ชุมชนกลับมาคึกคักได้อีกครั้งหนึ่ง

“หลังจากเริ่มหลักสูตรที่วางไว้ เราก็พาเขาทำให้เห็นเลย และเหมือนเขาก็อยากเห็นภาพเดียวกับเรา บางคนเลยไม่ทิ้งเราไปไหน”

นอกจากนี้ นันยังได้เรียนรู้อีกว่า การนำพาให้ชาวบ้านได้ศึกษาเกี่ยวกับวิถีเกษตรสมัยใหม่ ไม่ใช่การเรียนรู้ผ่านหลักสูตรเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงเมื่อจัดกิจกรรมขึ้นแล้ว เราได้เรียนรู้อะไรจากกิจกรรมที่จัดขึ้นบ้าง

นันได้เข้าใจว่ากิจกรรมบางอย่างจัดแล้วไม่คุ้มค่า ด้วยเหตุผลจิปาถะที่ไม่อาจทำให้กิจกรรมสำเร็จลุล่วงไปต่อได้ ซึ่งนันก็เลือกที่จะไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับมันอีก

ปัจจุบันกระบวนการเรียนรู้ 4 หลักสูตร คงเหลือเพียงการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพียงข้อเดียวเท่านั้น เนื่องจากเป็นสิ่งเดียวที่เข้าใกล้วิถีชุมชนของเธอมากที่สุด เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เลี้ยงวัวกันเป็นหลัก มีประชากรวัวในชุมชนไม่ต่ำกว่า 500 ตัว มีวิสาหกิจชุมชนที่เลี้ยงจิ้งหรีด นับเป็นผลพลอยได้ที่ชาวบ้านมักมองข้ามและไม่ได้นำมาแปรรูปก็คือปุ๋ยคอกนั่นเอง จึงทำให้สามารถจัดหาวัตถุดิบมาผลิตได้แบบไม่จำกัด

เป้าหมายต่อไปของนัน จึงต้องการยกระดับให้ ‘พันธุ์เจีย’ – Pangaea Organic Garden เป็นมากกว่าฟาร์มเกษตรปลอดสารพิษทั่วไป

แต่เธอมุ่งหวังอยากเห็นสวนอันรื่นรมย์แห่งนี้ ถูกจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ที่ก่อเกิดการรวมกลุ่มของชาวบ้าน มาร่วมกันยกระดับชุมชนให้มีความมั่งคงทางเศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้ และถูกรับรองมาตรฐานตามกฎหมายอย่างยั่งยืนต่อไป

 

ผู้เขียน : ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด