จุดเริ่มต้นการกลับบ้านของ “บุ๊ค”

จุดเริ่มต้นการกลับบ้านของ “บุ๊ค”

“บุ๊ค ภูมิปัญญา หมัดหลี” ผู้สนใจการทำเกษตรและธุรกิจ มีงานอดิเรกในภาคประชาสังคม กลับบ้านจากการเร่งเร้าของโรคโควิด-19 พกพาอาวุธทางความคิดและประสบการณ์ภายนอกเข้ามาในพื้นที่ เพื่อหวังว่าวันใดวันหนึ่งชุมชนจะสามารถพึ่งพาตนเองและดึงคนภายนอกเข้ามารู้จักวิถีชีวิตของชาวเกษตรกร ตำบลเขาพระ อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา

สารเร่งการกลับบ้าน

     ด้วยว่าอยากออกไปเรียนรู้และไขว่คว้าหาประสบการณ์การประกอบธุรกิจในเมือง เพื่อวันใดวันหนึ่งมีทุนมากพอแล้วจะหันกลับมาพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง จึงเป็นเหตุให้บุ๊คออกจากบ้านหลังเรียนจบเป็นระยะเวลา 3 ปี ค้านั่นขายนี่ อะไรที่เปิดเป็นธุรกิจได้ก็ทำ ขายตั้งแต่เสื้อผ้าขนมาจากตลาดโบ๊เบ๊ เปิดร้านน้ำชา เปิดร้านอาหารอิตาเลียน แต่ท้ายที่สุดแม้จะพยายามประคองธุรกิจเหล่านี้สักเท่าไรก็ยังต้องแพ้ภัยทางเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นดั่งหนังที่ฉายซ้ำเมื่อตอนประเทศไทยเกิดวิกฤตฟองสบู่ ครั้งนั้นพ่อของบุ๊คออกจากพื้นที่ไปทำงานในเมืองแต่ก็ต้องหวนกลับบ้านเหตุเพราะพิษทางเศรษฐกิจเช่นกัน

“สักพักนึงโควิดก็มาซ้ำเติมเราอีก มันก็ได้เป็นโอกาสให้เราได้กลับบ้านแบบเร็ว ๆ เลย แต่ผิดเป้าหมายไปนิดนึง จริง ๆ เป้าหมายเรา เราประสบความสำเร็จจากที่อื่น แล้วเราบริหารได้ เอาทุนกลับบ้านมาสร้างที่บ้าน แต่วันนั้นที่เรากลับมาคือเป็นศูนย์ ร้านเราก็เจ๊ง มันก็เลยผิดวัตถุประสงค์นิดนึง ไม่มีทุนกลับมา แต่ว่าเรามีประสบการณ์ที่ได้ออกไปทำอะไรหลาย ๆ อย่าง”

ธุรกิจข้างนอกที่ไม่ประสบความสำเร็จ ต้องปิดตัวลงไปพร้อมกับทุนที่หมดไป ทั้งโรคระบาดก็เข้าแทรกแซงชีวิตที่ปกติของเรา แผนการกลับบ้านของบุ๊คจึงผิดแผกไปจากความตั้งใจในครั้งแรก

สายธารการงอกงามของเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่

     “ต้นทุนเดิมเรื่องครอบครัวมันดีอยู่แล้ว เพราะว่าเป้าหมายของพ่อแม่เขาก็อยากให้เราอยู่กับเขานี่แหละ เขาไม่อยากให้เราไปไหนหรอก ตอนที่พี่ออกไปข้างนอกสองสามปีเขาก็ยังอยากให้กลับ พอเรากลับมาเขาก็ยินดี แต่มันก็มีสังคมในชุมชนบางส่วนที่อยากให้เราออกไปข้างนอกมากกว่ากลับมาอยู่ในชุมชน แต่เราก็ทำให้เขาเห็นหลาย ๆ อย่างว่าเรากลับมาอยู่บ้านมันก็โอเคนะ อย่างน้อยเรามีเวลามากกว่าคนอื่นที่ออกไปทำงานเต็มเวลาอะไรแบบนี้”

     “ศูนย์การเรียนรู้ครูภูมิปัญญาไทย เกษตรธรรมชาติธาตุ 4” สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และปัจจุบันคือที่อยู่อาศัยทั้งทางกายและใจของบุ๊ค สถานที่ที่แวดล้อมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ ในแต่ละวันมีแสงแดดเล็ดลอดจากฟ้าผ่านต้นไม้ใบหญ้าตกกระทบสู่ผืนดินอันเป็นสัญญาณแห่งการงอกงามของเมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ ป่ารกริมน้ำ จุดเริ่มแรกของการกลับบ้าน

“เริ่มมาพัฒนาในสวนจากที่มันเป็นป่า พอผมกลับมาก็รกไปหมดคิดว่าจะทำยังไงดี ก็เลยกลับมาถางป่าอยู่ปีนึงมันก็เห็นพื้นที่แล้ว พอเห็นพื้นที่ก็เออมันน่าจะกางเต็นท์ได้ประมาณนี้”

พื้นที่ที่เหมาะแก่การได้อยู่กับตัวเองท่ามกลางธรรมชาติ ผูกเปลนอนรับลมในยามบ่าย กางเต็นท์รับลมหนาวในยามค่ำคืน จากความชอบส่วนตัวได้กลายมาเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวภายในชุมชนอีกครั้ง ทว่าจนแล้วจนรอดก็ยังถูกสั่งปิดชั่วคราว เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ย่ำแย่ลง

ปลดเปลื้องพันธนาการเกษตรกรในบ้าน

     การคลุกคลีอยู่กับชาวเกษตรกร เฝ้าดูการเติบโตของผลหมากรากไม้ด้วยความสนอกสนใจมาตั้งแต่ยังเล็ก พร้อมกับประสบการณ์ด้านการทำธุรกิจ ทำให้บุ๊คพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิถีการทำเกษตรแบบเดิม ๆ ที่ผ่านมาคือปลูกและขายไปเพียงอย่างเดียว ให้ผสมผสานควบคู่ไปกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนด้วย

     “ภาคการเกษตรที่เป็นเป้าหมายของพี่คือไม่ได้ทำผลผลิตอย่างเดียว แต่เราทำเรื่องของการท่องเที่ยวด้วย จริง ๆ ถ้าพูดถึงการท่องเที่ยวมันก็เชื่อมโยงกับชาวบ้าน เพราะว่าเราต้องหาเครือข่ายคนที่เขามีความสามารถในด้านต่าง ๆ เหมือนวันนี้พี่ไม่เก่งในเรื่องของการทำอาหาร พี่ก็ชวนคนที่เขาชอบทำอาหารมาทำให้เรากิน พอมีทีมงานมืออาชีพมาทำแบบนี้ นักท่องเที่ยวที่มาก็รู้สึกโอเคเนอะ”

ปัญหาหลักที่พี่น้องชาวเกษตรกรต้องพบเจอเสมอมาคือถูกกดราคา ยิ่งไปกว่านั้นคือพวกเขาไม่ได้กุมอำนาจในการต่อรองใด ๆ จึงได้แต่ยอมจำนนต่อราคาผลผลิตเพียงน้อยนิด เมื่อเห็นปัญหาและอยู่กับมันมาตลอด
ทางออกที่พอจะทำได้และดูท่าว่าจะยั่งยืนต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรนั่นคือดึงคนภายนอกเข้ามาซื้อผลผลิตจากพื้นที่โดยตรง

“เราผลิตแล้วพยายามดึงลูกค้า ผู้บริโภคจากภายนอกเข้ามาซื้อเองเลย โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง บางทีเราก็โดนกดราคาบ้าง มันมีปัญหาเยอะแยะมากมายที่ตามมา กับที่ว่าถ้าผู้บริโภคจากภายนอกเขามาหาเราเลย เขาก็มาเห็นวิธีการผลิตของเราด้วยว่าในแปลงการเกษตรของเราเราไม่ใช้สารเคมีนะ เขาก็มั่นใจกับเรามากยิ่งขึ้น ผมว่ามันน่าจะเป็นการตลาดที่ยั่งยืนกว่าเดิม กว่ารูปแบบเก่า”

บทเรียนจากประสบการณ์และภาพฝันต่อชุมชน

     แม้จะผ่านประสบการณ์การทำธุรกิจมากมายที่ไม่เป็นไปดังใจหวัง ลองผิดลองถูกไปตามกำลังที่ตัวเองจะสามารถทำได้ ไปจนถึงสถานการณ์ทางสังคมที่มีส่วนสำคัญทำให้บุ๊คต้องกลับมาตั้งหลักใหม่อีกครั้งที่บ้าน เหล่านี้เมื่อมองย้อนกลับไปไม่ได้ทำให้บุ๊คท้อใจแต่อย่างใด กลับเป็นแรงผลักดันช่วยให้บุ๊คเติบโตและมองย้อนไปอย่างภาคภูมิใจไปต่อการเริ่มใหม่อีกครั้งและอีกครั้งจากศูนย์

“มันเป็นความภาคภูมิใจที่สำคัญด้วยนะ เพราะว่าเราเริ่มมาจากศูนย์เลย เริ่มมาจากติดลบด้วยซ้ำ เราสร้างมาเองทุกอย่าง มันอยู่ที่ใจของคนที่อยากกลับบ้านด้วยว่าเขาพร้อมหรือยัง ถ้าใจเขาพร้อมเขาก็อยู่ได้ แต่ถ้าใจยังไม่พร้อม ยังกลัวคำพูดของคนแถวบ้านอยู่ ยังกลัวว่าเพื่อน ๆ จะมองว่าเราไปไหนไม่รอด มันก็อยู่ยาก”

บุ๊คอธิบายต่อว่า “พี่ว่ามันง่ายมาก ยิ่งกลับบ้านมันเป็นถิ่นของเรา ไม่มีอะไรทำเราก็นอนอยู่ในบ้านยังได้เลย แต่ถ้าเราไปนอนอยู่ในเมืองสัก 5 วัน อดตายเลยนะ คำพูดคนที่บอกว่า ‘ทำไมกลับมาอยู่บ้านไม่มีงานทำข้างนอกหรอ’ คนพวกนี้ไม่ได้ยื่นตังมาให้เราสักบาทนะ เราต่างหากที่เป็นคนช่วยเหลือตัวเองอยู่ ยิ่งถ้าคนที่มีต้นทุนและกลับบ้านอันนี้โอเคเลย เหมือนพี่กลับมากับความล้มเหลวในเรื่องของธุรกิจ แต่ในเรื่องของความคิดอะไรมันยังมีอยู่ กลับมาแล้วเราก็ยังมีที่ของเราอยู่ เราสามารถพัฒนาพื้นที่ของเราได้”

ไม่เพียงแต่จะเติบโตบนเส้นทางการเกษตรเพียงคนเดียว แต่ยังหวังว่าวันใดวันหนึ่งเมื่อประสบความสำเร็จขั้นแรกแล้วจะสามารถเป็นตัวอย่างให้กับคนอื่นและพาพวกเขาก้าวไปข้างหน้าพร้อม ๆ กันได้

ผู้เขียน : สุดารัตน์ เหมศิริรัตน์

บุ๊ค ภูมิปัญญา หมัดหลี
อาสาคืนถิ่นรุ่น 6 จังหวัดสงขลา