จุดเริ่มต้นการกลับบ้านของ “ฟาง”

ให้บ้านและผู้คนโอบกอด

สายน้ำโขงไหลผ่านอย่างไม่หวนกลับ พาดยาวไปจนสุดลูกหูลูกตา เป็นเส้นเขตแดนที่ถูกสมมติขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกประเทศออกเป็นสองฝั่งระหว่างไทย-ลาว ถึงอย่างไร สายน้ำสายนี้นำพาให้เกิดวัฒนธรรมและวิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์ของผู้คนริมฝั่งโขง และที่บ้านนาสนาม อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานีแห่งนี้ คือบ้านเกิดอันเป็นที่รักของ “ฟาง”

ในชีวิตมหาลัยจนเข้าสู่ช่วงแรกเริ่มของการเป็นผู้ใหญ่ ฟางออกจากชุมชนเพื่อเรียนและทำงานในเมืองต่างถิ่น ผ่านประสบการณ์การทำกิจกรรม พร้อมกับพบเจอผู้คนมากหน้าหลายตา ทั้งฟางยังมีโอกาสลงพื้นที่ชุมชนหลาย ๆ ที่ จนสังเกตเห็นถึงศักยภาพของแต่ละชุมชนที่มี และเมื่อมองย้อนกลับมายังชุมชนบ้านเกิดของตัวเองจึงถามหาเหตุผลว่าเหตุใดตัวเองจึงยังไม่กลับบ้าน บ้านที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ ห้อมล้อมด้วยครอบครัวที่คอยสนับสนุน

ฟางเล่าว่า “ตอนนั้นตั้งคำถามว่าทำไมเราไม่มาอยู่บ้าน ทั้ง ๆ ที่มันก็อยู่ได้ แล้วเราก็ชอบแบบนี้อยู่แล้ว กลับมาก็มาเจอผู้คนที่คอยซัพพอร์ตเราในเรื่องการทำงานทางด้านชุมชนตรงนี้เราก็เลยรู้สึกว่าตรงนี้ต่างหากที่มันสร้างแรงบันดาลใจให้เรายิ่งอยากทำให้ชุมชนมากขึ้น ถ้าวันไหนที่เหนื่อย ๆ ก็มาอยู่กับธรรมชาติ มันเลือกได้ว่าเราจะอยู่ตรงไหนถ้าต้องดูแลความรู้สึกตัวเอง”

ย้อนกลับไปเมื่อปี 62 ในตอนที่ฟางได้กลับมาลงหลักปักฐานอยู่ที่บ้านอย่างเป็นจริงเป็นจัง ฟางได้ตัดสินใจเปิดโรงเรียนสอนพิเศษอยู่ในเขมราฐ โดยฟางเล่าว่าตน “มีโอกาสได้ไปเรียนในเมืองที่มันดูมีความเจริญทางด้านการศึกษา เจอมุมมองทัศนคติของผู้คนที่มันหลากหลาย พอเรากลับมาเรารู้สึกว่าเรามีความรู้เต็มไปหมดเลย เราเลยอยากเอาความรู้หรือมุมมองพวกนั้นมาให้เด็ก ๆ ในพื้นที่” แต่ในกระบวนการให้ความรู้ในโรงเรียนสอนพิเศษของฟางแห่งนี้ แตกต่างไปจากโรงเรียนในระบบด้วยว่าเปิดโอกาสให้เด็กได้พูดแสดงความเห็นของตัวเองให้มากที่สุด มิใช่ห้องเรียนที่มีเพียงเสียงของผู้สอน แต่อุดมไปด้วยบทสนทนาระหว่างผู้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน

สร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างพื้นที่เพื่อการแสดงออก

ต่อเรื่องการสนับสนุนกลุ่มเด็กและเยาวชนด้วยการเปิดพื้นที่ต่าง ๆ ที่ฟางทำอยู่ก็เพื่อให้เด็กได้รับรู้ว่าการเป็นตัวของตัวเองไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการแปลกแยกกับสังคม เพราะในโลกตอนนี้มีความสนใจมากมายให้เราได้เลือกจับจอง และความหลากหลายนี้จะมีขึ้นได้ก็ด้วยอาศัยพื้นที่ปลอดภัยและพื้นที่แห่งการแสดงออกได้อย่างอิสระเสรี

“การสร้าง comfort zone ให้เขาตรงนี้ เขาจะมีพื้นที่ที่เขารู้สึกว่าเขาปลอดภัย อย่างน้อยเขาต้องหาสักคนที่กล้าที่จะพูด ซึ่งเราอาจจะเป็นชุดประสบการณ์นึงที่ได้พบเจอสิ่งที่เขาเจอมาแล้ว และก็ให้คำปรึกษาได้อีกระดับนึงนอกเหนือจากครอบครัว เพราะบางทีครอบครัวก็ไม่ใช่ comfort zone สำหรับเขา”

ในทุกวันเสาร์ ยามเมื่อเดินเตร็ดเตร่บนถนนคนเดินเขมราฐ คุณจะพบเจอเด็ก ๆ กำลังแสดงออกด้วยการฟ้อนรำ ถัดออกไปไม่มากคุณจะเห็นเด็กอีกกลุ่มกำลังแสดง Cover Dance ถัดออกไปจากนั้นอีกคุณจะได้ยินเสียงเพลงที่ขับร้องโดยเด็กอีกกลุ่ม ซึ่งฟางเล่าถึงความหลากหลายของการแสดงออกนี้ว่า “คนเรามันชอบไม่เหมือนกัน ดังนั้นต้องเปิดพื้นที่ให้ทั้งหมด ให้มันเท่าเทียมกัน มันเป็นการแสดงออกวัฒนธรรมใหม่ผสมวัฒนธรรมที่เรามี”

ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของถนนคนเดินเขมราฐ สู่การสร้างคุณค่าให้ผู้คน

ทั้งสองฝั่งของถนนคนเดินเขมราฐเต็มไปด้วยร่องรอยของประวัติศาสตร์ ตึกรามบ้านช่องที่มีอายุมากกว่าคนสองรุ่นรวมกัน ยามแสงอาทิตย์เริ่มคล้อยต่ำยิ่งทำให้ถนนสายนี้กลายไปเป็นอีกโลกหนึ่ง

หลังกลับบ้านมาเปิดโรงเรียนสอนได้ไม่นาน ฟางได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม “ฮักนะเขมราฐ” และมีบทบาทในการดูแลความเป็นไปของถนนคนเดิน อาศัยการแสดงออกทางวัฒนธรรมด้วยรากเหง้าเดิมที่มีจากวิถีชีวิตริมฝั่งโขง ผสมผสานกับวัฒนธรรมใหม่ที่ผันแปรไปตามกาลเวลาโลก นอกจากกลุ่มเด็กและเยาวชนแล้ว บนถนนคนเดินแห่งนี้ยังพบเห็นผู้เฒ่าผู้แก่ออกมาแสดงการฟ้อนรำให้นักท่องเที่ยวได้จดจำ นัยหนึ่งอาจเป็นการแสดงอัตลักษณ์ อีกนัยหนึ่งอาจเป็นการสนับสนุนให้ผู้สูงอายุได้ออกกำลังกาย แต่สิ่งสำคัญคือการทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกถึงการมีคุณค่าในตัวเอง

“แม่คนแก่อายุ 70-80 มาฟ้อนก็เหมือนได้ออกกำลังกาย แล้วเขาก็ซ้อมกันจริงจังด้วยนะเพื่อที่จะมา แล้วคนมาถ่ายรูป สมมติเดินแล้วมีคนมาบอกแม่ขอถ่ายรูปหน่อย เป็นนางรำใช่ไหม เขาก็จะรู้สึกว่าฉันไม่ได้แก่เฉยๆ แต่เขารู้สึกว่าได้ทำเพื่อชุมชน เวลาถึงวันเสาร์แล้วแม่ ๆ ก็อยากแต่งตัว อยากสวย อยากออกมาเจอผู้คน”

ด้วยรักในบ้านเกิด

เกิดและเติบโตกระทั่งได้ออกไปใช้ชีวิตในที่ต่างถิ่น และในท้ายที่สุดได้กลับมาลงหลักปักฐานอยู่ที่ชุมชนแห่งนี้แล้ว ทั้งธรรมชาติที่แวดล้อมไปด้วยไม้เล็กไม้ใหญ่ สายแม่น้ำโขงซึ่งทำให้เกิดวิถีชีวิต ชุมชนที่อุดมไปด้วยวัฒนธรรม ทั้งถนนคนเดินยังกลายมาเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ เหล่านี้จึงทำให้ฟางยิ่งตกหลุมรักในบ้านเกิดของตัวเอง ทว่า สิ่งที่ฟางยังอยากให้เกิดขึ้นมากที่สุดคือทุกคนในชุมชนเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ รักและโอบกอดบ้านเกิดตัวเองได้เท่ากับหรือมากกว่าที่ฟางกำลังเป็นและกำลังรู้สึก เมื่อมองย้อนกลับไปสิบกว่าปีที่แล้ว ชุมชนแห่งนี้ได้เติบโตตามระยะเวลาอย่างเข้มแข็ง มากกว่าที่จะผุกร่อนตามกาลเวลา

“เราอยากให้ทุกคนมีความภูมิใจในพื้นที่
ถ้ายิ่งเรารักพื้นที่เราเราจะไม่กล้าเอาสิ่งที่ไม่ดีมาในพื้นที่เรา
ดังนั้นก็อยากให้คนในชุมชนเองมีความภูมิใจก่อน แล้วนำเสนอสิ่งดี ๆ ออกมาให้กับสังคม”

ผู้เขียน : สุดารัตน์ เหมศิริรัตน์

สุจินันท์ ใจแก้ว
อาสาคืนถิ่นรุ่น 6 จังหวัดอุบลราชธานี