จุดเริ่มต้นการกลับบ้านของ “แนว”

เมื่อแนวจ้องมองเข้าไปยังพื้นที่อันเรียงรายไปด้วยเคพกูสเบอรี่ ซึ่งกำลังออกผลสีเหลืองทองดูเด่นชัดราวกับดาวดวงเล็ก ๆ บนท้องฟ้า ช่างงดงามและทรงคุณค่ากว่าสิ่งใดที่เขาเคยพบ นอกจากนั้นเขายังเห็นความเป็นไปได้ว่าพื้นที่แห่งนี้ จะกลายมาเป็นพื้นที่ต้นแบบ ของการสร้างมูลค่าในท้องถิ่น เพื่อให้คนในชุมชนมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ไม่ให้สูญหายไป แต่กว่าจะมาเป็นสวนเคพกูสเบอรี่ที่งดงามอย่างนี้ได้ แนวต้องฝ่าฟันอุปสรรคมาไม่น้อยเช่นกัน

แนวเผชิญหน้ากับคนที่ไม่เห็นด้วย และไม่เข้าใจในสิ่งที่เขาทำ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ต้องมีทั้งคนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าจิตใจของเราหนักแน่นมากพอจะฝ่าฟันไปหรือไม่ก่อนหน้านั้น แนวเคยทำงานให้กับบริษัททัวร์เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากเป็นคนชอบท่องเที่ยวเป็นชีวิตจิตใจ และถ้าหากมีโอกาสก็อยากออกไปเปิดหูเปิดตาที่ต่างประเทศดูบ้าง

แนวตั้งปณิธานไว้ว่า จะทำงานเก็บเงินเป็นเวลา 3 ปี แล้วค่อยกลับมาเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างที่บ้านเกิด ตลอดเวลาของการทำงาน แนววางแผนหลายขั้นเพื่อเตรียมตัวกลับบ้านอย่างเต็มตัว เรื่องราวเหล่านั้นวนเวียนอยู่ในหัวของเขาไม่เคยหายไปไหน แต่ยังเป็นได้แค่ภาพฝันอันเลื่อนลอยเท่านั้น สิ่งเดียวที่ชัดเจนมากพอ คือเขาอยากกลับบ้าน

ทำงานได้ปีเศษ ก็เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น เมื่อโควิด – 19 ระบาดอย่างหนัก สร้างความวุ่นวายและเสียหายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว มันส่งผลกระทบต่อแนวโดยตรง เขาออกจากงานเกือบจะทันที และต้องกลับบ้านก่อนกำหนด โดยแถบไม่มีเวลาเตรียมตัวด้วยซ้ำไป แนวกลับมาที่บ้านด้วยความรู้สึกว้าเหว่ โดดเดี่ยว เซื่องซึม และไร้จุดยืนในชีวิต จิตใจกระสับกระส่ายร้อนรนด้วยความตื่นกลัวว่าจะอยู่รอดที่บ้านเกิดในสถานการณ์กดดันอย่างนี้ได้อย่างไร

ในห้วงเวลานั้นเอง เขาเหลือบมองไปเห็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่มากมายในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นภูเขา ต้นไม้ ลำธาร ผลไม้นานาชนิด หรือแม้แต่วัฒนธรรมพื้นถิ่นของชาวปกาเกอะญอ อันเต็มไปด้วยสีสันหลากหลาย และทรงคุณค่าเกินกว่าจะหาสิ่งใดมาเปรียบเทียบได้

แนวจำได้ว่าเมื่อครั้งยังเด็ก เขาเคยวิ่งเล่นไปตามลำธาร เก็บกินผลไม้รสหวานตามภูเขา ชีวิตวัยเด็กผูกพันกับถิ่นเกิดอย่างขาดไม่ได้ แต่ตอนนี้ทรัพยากรเหล่านั้นถูกลืมอยู่ข้างหลัง เนื่องจากคนรุ่นใหม่มองไม่เห็นคุณค่าของสิ่งนั้นแล้ว บางคนก็ถูกขับให้ออกไปทำงานที่ต่างจังหวัด ส่วนคนที่อยู่ในชุมชนก็มักจะเป็นผู้สูงอายุ กับเด็กตัวเล็ก ๆ ที่ยังไม่ประสีประสา ทำให้แทบไม่มีการส่งต่ออาชีพ หรือวิถีชีวิตดังเดิมของคนรุ่นก่อนอยู่เลย คิดไปแล้วช่างน่าเศร้าใจ เขาจึงเกิดแนวคิดว่า หากนำทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนให้เป็นที่รู้จักได้ ก็จะสามารถเชื่อมต่อความหวงแหนท้องถิ่นให้กับผู้คนได้ แถมยังสร้างมูลค่าให้กับตัวเองและชุมชนเพิ่มขึ้นได้อีกด้วย

‘เก่อเจ่อโพ’ จึงเกิดขึ้นภายใต้แนวคิด แบรนด์สินค้าที่จะช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น เก่อเจ่อโพ เป็นภาษาปกากะญอ แปลว่า ‘คนบนดอย’ โดยคำว่า ‘เก่อเจ่อ’ หมายถึง ภูเขา และ ‘โพ’ หมายถึง ลูกชาย หรือของที่มีขนาดเล็ก เมื่อรวมกันแล้วจะหมายถึง ลูกภูเขา หรือคนบนดอยนั่นเอง แนวบอกว่าตัวการ์ตูนคนสูบไปป์ อันเป็นโลโก้ประจำแบรนด์ของเขา หมายถึงวิถีชีวิตคนปกากะญอสมัยก่อน ที่มักทำไร่หมุนเวียน เวลาไปไร่จะใช้เกียว หรือตะกร้าสะพายหลัง เพื่อใส่แตงกวา หรืออาหารจากไร่หมุนเวียน

ส่วนเสื้อผ้าแดงเป็นเสื้อกระเหรี่ยง บ่งบอกถึงความเป็นผู้ชายที่กล้าหาญ มีความแข็งแรง เนื่องจากสีแดงสด คือสีแห่งความกล้าหาญในความเชื่อของชาวกระเหรี่ยง เมื่อมีชื่อแบรนด์ ก็ต้องมีสินค้าประจำแบรนด์ เพียงแต่ว่า แนวยังไม่ได้ทุ่มเทให้กับผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งอย่างเต็มกำลังนัก เขาอยากค้นหาตัวตนของตัวเอง ผ่านกระบวนการทดลองหลายสิ่งหลายอย่างไปพร้อม ๆ กัน โดยเริ่มจากการปลูก อะโวคาโด พลับ ชาอัสสัม รวมไปถึงกาแฟ แต่สุดท้ายก็มาลงเอยที่เคพกูสเบอรี่ ซึ่งเป็นพืชที่มีอยู่ในชุมชนบ้านห้วยขมิ้นในของเขาแทบจะทุกจุด

สาเหตุที่เลือก ‘เคพกูสเบอรี่’ เพราะเป็นพืชที่ดูแลไม่ยาก เนื้อผลนุ่มฉ่ำแทรกด้วยเมล็ดสีเหลืองรสหวานอมเปรี้ยวนิด ๆ คล้ายสับปะรดผสมมะเขือเทศ หรือมะเขือเทศผสมองุ่น แต่มีกลิ่นหอมน่ารับประทานมากกว่าที่สำคัญ คือสามารถนำมาใช้แปรรูปได้หลายประเภท เช่น แยม ซอส พาย พุดดิ้งกวน ไอศกรีม รับประทานเป็นสลัดผลไม้ น้ำปั่น จุ่มน้ำผึ้ง จุ่มผลด้วยช็อกโกแลต และยังเป็นผลไม้ที่ทานเพื่อสุขภาพได้ดีอีกด้วย

สำคัญที่สุด คือยังไม่มีใครปลูกเคพกูสเบอรี่อย่างจริงจังภายในชุมชนบ้านห้วยขมิ้นในของเขาสักคนเดียวแต่แนวคิดไปไกลกว่านั้น เขาอยากส่งเคพกูสเบอรี่ออกขายไปทั่วประเทศ หลังจากครุ่นคิดอยู่นาน สุดท้ายก็ลงเอยด้วยการอบแห้ง เขาลองอบแห้งมาหลายวิธี จนได้วิธีที่ดีที่สุด คือต้องนำเคพกูสเบอรี่มาแกะเปลือกออกก่อน จากนั้นบีบให้แตก แล้วแช่ปูน 10 ชั่วโมง ค่อยล้างปูนออก จึงจะเอาไปต้มเชื่อมกับน้ำตาลและเกลือ ซึ่งตอนเชื่อม ต้องไม่คั่วมาก เพราะเคพกูสเบอรี่จะเละและเสียหายได้

เคพกูสเบอรี่สามารถสร้างเม็ดเงินให้เขาได้ประมาณหนึ่ง จนการกระทำของแนวเริ่มเป็นที่สนใจของคนในชุมชนแทบจะทันที เนื่องจากเป็นคนรุ่นใหม่คนแรก และคนเดียวที่กลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิดช่วงแรก  ๆ ผู้คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจว่าแนวกำลังทำอะไรอยู่ เขาเป็นคนหนุ่มวัย 26 ปีที่ควรมีอนาคตในสายงานอาชีพที่มั่นคง แต่ทำไมจึงมาอุดอู้ทำสวนเคพกูสเบอรี่ที่บ้านเกิด ซึ่งแนวก็ยอมรับว่า เขาไม่อาจอธิบายให้คนในชุมชนเข้าใจได้หมดทุกคน เขาเพียงยึดมั่นในหลักการ สักวันหนึ่งเมื่อเขาทำสำเร็จ ผู้คนจะเข้าใจสิ่งที่เขาทำเอง

ทุกครั้งที่ท้อ หรือสูญเสียความมั่นใจ แนวจะคลุกตัวอยู่ในสวน ดื่มด่ำบรรยากาศอันร่มรื่นจากเสียงลมหวิวไหวกระทบใบไม้แห้งบนพื้นดิน จ้องมองดูฝูงนก บินผ่านท้องฟ้าอันไกลลิบ หรือแม้แต่การได้เฝ้าสังเกตเคพกูสเบอรี่ค่อย ๆ เติบโตเป็นต้นใหญ่ ออกผลผลิตให้เชยชม ช่วยเยียวยาจิตใจของเขาได้อย่างประหลาด สวนเคพกูสเบอรี่สอนให้แนวรู้จักอดทน และเข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะแดด ลมฝน ที่คาดการไม่ได้ หรือการต้องมีสติอยู่กับสิ่งที่ไม่คาดคิดอยู่ตลอดเวลา เหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้แนวหลงรักเคพกูสเบอรี่จนอยากพัฒนาให้เป็นสินค้าตัวอย่างของชุมชนได้ในอนาคต

ซึ่งเขามั่นใจว่าทำได้ เพราะเป็นคนที่ชอบเรียนรู้ และปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ทำให้แนวไม่เคยหยุดพัฒนาสวนเคพกูสเบอรี่ของเขาแม้สักวัน แนวบอกว่า “ผมเป็นคนหนึ่ง ที่ยอมเสียสละอย่างหนึ่ง เพื่อแลกกับอย่างหนึ่ง สักวันหนึ่ง ถ้าผมทำมันได้จริง ผู้คนจะเข้าใจ และยอมรับผมมากขึ้น…เขาจะทำตามผมแน่นอน”คำพูดของแนวใกล้ความเป็นจริงเข้าไปทุกที เพราะหลังจากต่อสู้อย่างเด็ดเดี่ยวเพียงลำพังมาช้านาน ก็เริ่มมีคนเข้าใจสิ่งที่แนวทำแล้วบ้าง ซึ่งบางคนก็เข้ามาช่วยเหลือเขาทุกครั้งที่มีโอกาสอีกด้วย

ตอนนี้ แม้กำลังอยู่ในขั้นของการเริ่มต้น แต่แนวรู้ดีว่ายังมีหลายสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อไป บางครั้งการมีเพื่อนที่คอยเข้าใจก็อาจทำให้การทำงานเพื่อชุมชนราบรื่นมากขึ้นได้แต่สิ่งที่น่ายินดีกว่านั้น คือเขาสามารถอยู่รอด และอยู่ร่วมกับคนในชุมชนได้อย่างมีคุณค่า โดยที่แนวไม่รู้สึกโดดเดี่ยวอีกต่อไป ส่วนจะไปถึงจุดหมายได้มากน้อยเพียงใดนั้น…อนาคตอยู่ในความคิดของแนวหมดแล้ว

ผู้เขียน : ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

พงศธร แสงกระจ่างชื่น
อาสาคืนถิ่นรุ่น 6 จังหวัดเชียงใหม่