จุดเริ่มต้นการกลับบ้านของ “แป่ว”

เสียงหัวเราะแว่วดังมาจากห้วยแม่ขนาด กลุ่มเด็กชาวกะเหรี่ยง ช่วยกันสร้างฝายชะลอน้ำด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม บรรยากาศอบอุ่นภายใต้ท้องฟ้าแจ่มใส สายน้ำแห่งชีวิตถูกหล่อหลอมให้เป็นส่วนหนึ่งในชุมชนอีกครั้ง ซึ่ง ถูกปกป้องอย่างดีจากเยาวชนคนรุ่นใหม่คืนถิ่น  ที่มีผู้นำมีนามว่า “แป่ว” หรือ ‘ภาสกร ป่างวิสัย’

หนุ่มคนนี้ เคยทำงานในตัวจังหวัดลำพูนเกือบปี เขาได้เข้าไปอยู่ในระบบงานอย่างเต็มกำลัง ทุก ๆ วันจึงทำงานราวกับคนที่ไร้วิญญาณ จนกระทั้งเพดานความอดทนถึงขีดสุด เขาตัดสินใจกลับบ้าน เพราะได้ค้นพบแล้วว่า ‘การกลับบ้านคือคำตอบของเขา’ “ผมรู้ว่าผมควรกลับมาทำอะไรที่บ้านตั้งแต่เรียนมหาลัยปี 2 แล้ว” เขากล่าว “อ๊ายพะแป่ว” คือชื่อที่เด็กในชุมชนเรียกขาน แต่ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านต่างเรียกนามของเขาว่า ‘แป่ว’ เจ้าหนุ่มกะเหรี่ยงผู้ผิดแปลก และมักชอบพากลุ่มเด็กทำสิ่งที่ชาวบ้านไม่เข้าใจเสมอ

แป่ว เป็นเพียงชาวบ้านแม่ขนาด(หลวง) หมู่ 8 ตำบลทากาศ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน เขาถือกำเนิดขึ้นมาในหมู่บ้านแห่งนี้โดยตรง ซึ่งตลอด 24 ปีที่ผ่านมา เขามองเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชุมชน มันเกิดขึ้นรวดเร็วจนน่าใจหาย ตั้งแต่เล็กจนโต ทุกสิ่งเปลี่ยนผ่านราวกับสายน้ำที่ไหลไปข้างหน้าอย่างไม่มีวันหวนกลับ

เขาเคยมีความสุขกับการได้เห็นภูมิประเทศซึ่งเต็มไปด้วยภูเขาสลับซับซ้อน แมกไม้หนาทึบ กลิ่นหอมจากเปลือกไม้หลังฝนตก ละอองน้ำค้างบนใบไม้หลากสี ชื่นมื่นกับลำธารยาวเหยียดที่ไหลคดเคี้ยวลงมาจากยอดเขาสูง ทุกสิ่งสวยงาม ธรรมชาติยิ่งใหญ่ เขาหลงรักพื้นที่แห่งนี้เสมือนกับชาวกะเหรี่ยงทุกคนในหมู่บ้านของเขา

แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงก็มาถึง มีการสัมปทานป่าไม้เกิดขึ้น นิคมอุสาหกรรมผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ธรรมชาติถูกรุกราน ผู้คนใช้ชีวิตลำบากมากขึ้น เจอปัญหาเชิงพื้นที่แทบทุกวัน ฝนตกไม่ตรงตามฤดูกาล สารเคมีในป่าก็มีมากขึ้น ทรัพยากรป่าไม้ที่เคยมีค่ากลับถูกมองข้ามอย่างน่าประหลาด

ทุกสิ่งเกิดขึ้นรวดเร็วเพียงไม่กี่ปี วิถีชาวกะเหรี่ยงที่เคยผูกพันอยู่กับผืนป่าคล้ายถูกกลืนไปทีละน้อย ลูกหลานชาวกะเหรี่ยงบางคนเริ่มทอดทิ้งบ้านเกิด ออกไปทำงานต่างถิ่นกันมากขึ้น หมู่บ้านเงียบเหงา มีเพียงผู้เฒ่ากับเด็ก ๆ เท่านั้น ที่ยังคงอาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้

แต่สิ่งที่น่าเศร้ามากไปกว่านั้น คือชาวบ้านทุกคน กำลังใช้ชีวิตในแบบที่เรียกว่า “ต่างคนต่างอยู่” และต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง โดยไม่สามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ ปัญหาดังกล่าว สร้างความเจ็บปวดในจิตใจของแป่วราวกับถูกทิ่มแทงด้วยเข็ม เขาครุ่นคิดอยู่เสมอว่าต้องทำอะไรสักอย่างให้บ้านเกิด ก่อนที่จะสายเกินไป

อ๊ายพะแป่ว สำรวจหาจุดเด่นจุดด้อยในชุมชนตัวเองอย่างจริงจัง เขาพบว่าหมู่บ้านของเขาเต็มไปด้วยทรัพยากรที่มีคุณค่ามากมาย แมกไม้ ภูเขา ลำธาร ฝูงสัตว์ป่า และวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงดั่งเดิม สิ่งเหล่านี้ต่างงดงามในแบบที่ควรจะเป็น แต่ทว่าจุดอ่อนเพียงอย่างเดียวที่ขาดไป คือการเสียสละของใครสักคน ที่พร้อมทุ่มเทแรงกายแรงใจลุกขึ้นสู้ เพื่อรักษาสิ่งเหล่านี้ให้คงอยู่ตราบชั่วลูกหลาน และผู้ซึ่งรับรู้เรื่องราวเหล่านี้ได้ดีที่สุด ก็คือตัวของเขานั่นเอง

แป่วได้ตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิต เขารู้ดีว่าทุกการกระทำนับจากนี้ จะเปลี่ยนแปลงตัวเขาไปตลอดกาล ในเมื่อจุดอ่อนของชุมชน คือชาวบ้านต่างคนต่างอยู่ แป่วจึงนำจุดอ่อนนั้นเปลี่ยนให้เป็นจุดแข็ง โดยสร้างพื้นที่ปลอดภัยไว้สำหรับทำกิจกรรมของคนในชุมชน แต่ปัญหาคือชาวบ้านต่างมีภาระหน้าที่ที่ต้องทำ จึงอาจไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับเขาได้ทั้งหมด แต่เขาก็รู้ดีมาตลอดว่าต้องเป็นเช่นนั้น จึงพุ่งเป้าหมายไปที่เยาวชนในชุมชนที่พอจะพึงพาอาศัยกันได้บ้าง

ด้วยแนวคิดอยากปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิดให้กับเด็กในชุมชนทุกคน มันยากเสมอในการตัดสินใจทำอะไรครั้งแรกด้วยตัวเอง โดยเฉพาะกิจกรรมที่จำเป็นต้องให้ผู้อื่นมีส่วนร่วม ความยากยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณแต่แป่วชัดเจนในเส้นทางของตัวเองเสมอ เมื่อเขาตัดสินใจทำอะไรแล้ว ก็จะไม่ล้มเลิกหรือยอมแพ้กลางทาง ไม่ว่าอุปสรรคจะหนักหนาเพียงใด มันเป็นเพียงบททดสอบแห่งชีวิต ที่เขาจะต้องเผชิญหน้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “เมื่อคนอยากได้ต้นไม้เขาต้องปลูกป่า” แป่วกล่าว

‘กลุ่มเยาวชนกะเหรี่ยงแห่งลุ่มน้ำแม่ขนาด’ จึงถือกำเนิดขึ้นจากเด็กหนุ่มผู้มีอุดมการณ์แรงกล้า ที่อยากเห็นชุมชนบ้านเกิด กลับมาสดใสมีชีวิตชีวาอีกครั้ง แป่วมองหาเด็กในชุมชนจำนวน 20 ชีวิต เพื่อเป็นโมเดลตัวอย่างให้คนในชุมชนได้เห็นว่า กลุ่มเด็กตัวเล็ก ๆ อย่างพวกเขา สามารถทำอะไรได้บ้าง

“ผมใช้เด็กเพื่อสื่อสารกับผู้ใหญ่” แป่วกล่าว

กิจกรรมของกลุ่มเยาวชนกะเหรี่ยง คือการลงมือทำอะไรสักอย่างให้เป็นที่ประจักษ์ แป่วเชื่อเสมอว่าการลงมือทำ จะช่วยให้เด็ก ๆ รู้ว่าสิ่งไหนที่พวกเขาถนัดหรือไม่ถนัด สิ่งไหนทำได้ดีหรือไม่ได้ดี และการลงมือทำยังช่วยกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งจะส่งผลให้ประสบความสำเร็จขึ้นในท้ายที่สุด

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ชาวบ้านจะเห็นเด็กกะเหรี่ยงกลุ่มหนึ่ง ออกมาปลูกป่า สร้างฝายชะลอน้ำ หรือทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมากมาย ซึ่งในทุกกิจกรรม ล้วนสร้างเสียงหัวเราะ ความประทับใจในหมู่เด็ก ๆ เสมอ พวกเขาสนุก และอยากเรียนรู้ไปพร้อมกับอ๊ายพะแป่ว ของพวกเขา

โดยเฉพาะกิจกรรมย้อมผ้าสีธรรมชาติ ที่แป่วค่อนข้างเน้นหนักเป็นพิเศษ สีผ้าของชาวกะเหรียงมีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนาน มันบ่งบอกได้ถึงวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาวกะเหรี่ยงที่มิอาจประเมินราคาได้ ‘สีแดง’ แสดงถึงการเป็นบุรุษผู้กล้าหาญ ‘สีขาว’ หมายถึงผู้หญิงที่มีดวงใจบริสุทธิ์ ลวดลายต่าง ๆ ในการย้อมสี หมายถึงความรักความผูกพันที่ธรรมชาติมีต่อมนุษย์ การย้อมสีผ้าจึงต้องประณีต และใช้เวลาค่อนข้างนาน เพราะมันคือช่วงพิเศษ ที่ทำให้ผู้คนได้อยู่กับตัวเอง เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับรายละเอียดของทุกสิ่งรอบตัว

ระหว่างทำกิจกรรม แป่วติดอาวุธทางความคิดให้เด็กหวงแหนบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น มันคือหนึ่งในส่วนสำคัญของกิจกรรม ซึ่งเขาไม่ได้คาดหวังว่าหากโตขึ้น เด็ก ๆ จะต้องกลับมาสร้างอะไรสักอย่างที่บ้านเกิดกันทุกคน พวกเขาต่างมีความฝันตามเส้นทางที่วาดหวังไว้  แป่วขอเพียงให้เด็กรู้สึกหวงแหนบ้านเกิดของตัวเองบ้าง เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว แต่ใช่ว่าเขาจะเป็นผู้มอบแนวคิดนี้ให้กับเด็กเพียงเท่านั้น เพราะเด็กก็ได้มอบความรู้สึกหวงแหนบ้านเกิดมาสู่ตัวเขาด้วยเช่นกัน ความผูกพันเหล่านี้พิเศษ และทรงคุณค่าเกินจะอธิบายได้

สุดท้ายนี้ แม้การติดอาวุธทางความคิดให้เด็กได้เกิดจิตสำนึกรักบ้านเกิด จะยังไม่สามารถเกิดขึ้นอย่างมั่นคงในยุคของเขา แต่เขาก็เชื่อมั่นว่า ในอนาคตต้องมีเด็กสักคนที่จะเติบโตขึ้น เพื่อสานต่อสิ่งที่เขาทำ และพร้อมพัฒนาชุมชนไปสู่หนทางที่ดีกว่าเขาได้อย่างแน่นอนเหมือนอย่างที่แป่วเคยกว่าไว้ว่า

“การสร้างคนดี สำคัญกว่าทุกสิ่ง”

ผู้เขียน : ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด

ภาสกร ป่างวิสัย
อาสาคืนถิ่นรุ่น 6 จังหวัดลำพูน