10 ความคลาสสิคที่ต้องเจอ เมื่อกลับไปทำอะไรที่บ้าน

Creative Space (พื้นที่สร้างสรรค์)

หากพูดถึงองค์ประกอบของการกลับบ้าน สิ่งหนึ่งที่มีผลต่อการยกระดับชีวิต และทำให้การกลับบ้านมีคุณค่าเพิ่มมากขึ้นก็คือ Creative Space” หรือ พื้นที่สร้างสรรค์

เรากำลังพูดถึงพื้นที่สร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่กลับบ้าน ที่ทำให้เกิดการร่วมกลุ่ม การแลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกัน รวมถึงยังทำให้เกิดการพัฒนาตนเองและชุมชนได้อีกด้วย

แต่ทว่าด้วยศักยภาพของชนบทของประเทศไทยส่วนใหญ่ อาจไม่ได้มีพื้นที่มากพอที่จะเชื่อมต่อระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นก่อนในชุมชนให้สามารถรวมกลุ่มเพื่อสร้างกิจกรรมร่วมกันได้มากขนาดนั้น เพราะติดปัญหาหลายอย่าง ทั้งปัญหาส่วนตัวที่จำเป็นต้องทำงาน และในชุมชนก็มีสถานที่กลางให้คนรุ่นใหม่ได้สร้างสรรค์ไม่มากนัก เช่น วัด โรงเรียน หรืออาจเป็นศาลากลางหมู่บ้าน เท่านั้น

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ที่ประสบปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่สร้างสรรค์ไม่เพียงพอเมื่อกลับบ้านของตนเอง ซึ่งพวกเขาจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เข้ากับบริบทของชุมชน ดังนี้

ดูว่าเรามีต้นทุนอะไรบ้าง

การมองดูตัวเองว่าเป็นใครในชุมชน มีความถนัด และศักยภาพอย่างไร จากนั้นก็นำความสามารถดังกล่าวมาพัฒนาต่อยอดที่บ้านเกิดต่อไป
จากบทเรียนของอาสาคืนถิ่น รุ่นที่ 1-6 ที่ผ่านมา พบว่าต้นทุนส่วนใหญ่ของการเริ่มต้นกลับบ้าน มีปัจจัยสำคัญอยู่ 5 อย่างคือ 1.) ครอบครัว 2.) เพื่อน 3.) การศึกษา 4.) อาชีพ 5.) ไลฟ์สไตล์หรือวิธีการใช้ชีวิตส่วนตัว

ดูว่าชุมชนมีต้นทุนอะไรบ้าง

การเข้าใจทรัพยากรและบริบทของชุมชนว่ามีศักยภาพอยู่ในระดับไหน เพื่อนำมาประเมิน วิเคราะห์ และต่อยอดต่อไป

การสำรวจทรัพยากรของชุมชน เป็นขั้นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร เพราะต้องใช้ความพยายามและความตั้งใจระดับหนึ่ง ซึ่งคนรุ่นใหม่จำเป็นต้องนำทักษะความสามารถที่ตนมีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงจะสำริดผล

การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเองของคนรุ่นใหม่กลับบ้าน ยังมีปัจจัยเกี่ยวข้องอีกมาก เนื่องจาก Creative Space จะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในหลายภาคส่วน เช่น ครอบครัว ชุมชน และผู้สนับสนุนที่มีแนวคิดคล้ายกัน

อย่างไรก็ตาม Creative Space คือพื้นที่ชีวิตที่จำเป็นต้องใช้พลังกายกับพลังใจค่อนข้างสูง เพราะมันไม่ใช่เพียงพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้แนวทางการกลับบ้านของตนเองอย่างอิสระเท่านั้น แต่ยังต้องการโอกาสอย่างเต็มที่เพื่อจะทดลอง  เรียนรู้ ล้มเหลว หรือผิดพลาดได้

ประสบการณ์เหล่านี้จะหล่อหลอมให้คนคืนถิ่นได้เข้าใจตนเองจากภายใน และส่งต่อความเข้าใจนั้นไปสู่คนรอบข้างต่อไปได้ ซึ่งมันจะดีมาก หากคนรุ่นใหม่กลับบ้านมี Creative Space อันเป็นพื้นที่แห่งความสนุกสนาน ความรื่นรมย์ ความอบอุ่น รวมถึงพื้นที่แห่งความเข้าอกเข้าใจกันของทั้งตนเอง ครอบครัว ชุมชน เช่นนั้นแล้ว การกลับบ้านของพวกเขา ก็คงเต็มไปด้วยความสุขที่อบอุ่นได้อย่างแน่นอน

เงินทุน

เมื่อคิดเริ่มต้นทำอะไรสักอย่าง สิ่งแรกที่จะต้องนึกถึงก็คือ “เงินทุน” เพราะเงินเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยให้เราสามารถวางแผนและดำเนินการไปสู่การเตรียมตัวเพื่อทำอะไรสักอย่างได้

แม้กระทั่งกับคนรุ่นใหม่ที่มีความต้องการอยากกลับบ้าน ก็ยังจำเป็นต้องมีการวางแผนเรื่องการเงินให้ดี เพราะถึงแม้การกลับบ้านอาจฟังดูไม่มีสิ่งใดซับซ้อน แต่เนื่องจากทุกสังคมล้วนจำเป็นต้องใช้เงินเป็นตัวกลางในการดำเนินชีวิต ดังนั้นการกลับบ้านจึงจำเป็นต้องใช้เงินอยู่ดี

จากบทเรียนของอาสาคืนถิ่น รุ่น 1-6 ที่ผ่านมา ได้พบปัจจัยหลัก 3 ข้อ เกี่ยวกับการเงินที่คนคืนถิ่นมักพบเป็นประจำเมือกลับบ้าน ดังนี้คือ

มีเงินพร้อมใช้เท่าไหร่

เนื่องจากเหตุผลของการกลับบ้านของแต่ละคนที่ต่างกัน บางคนอาจอยากกลับบ้านเพราะเบื่อชีวิตในเมืองหลวง บางคนกลับบ้านเพราะไม่รู้จะไปที่ไหน บางคนกลับบ้านเพราะแค่อยากพักผ่อน และบางคนกลับบ้านเพราะต้องการพัฒนาบ้านเกิด หรือสร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับตัวเองและชุมชน ดังนั้นจึงมีเหตุจำเป็นในการใช้เงินที่ต่างกัน

กระนั้น ทุกการกลับบ้านล้วนต้องใช้เงินเป็นหลัก ไม่เฉพาะแค่ค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทางเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึงค่าอาหาร ค่าครองชีพ หรือค่าโปรเจคระหว่างดำเนินงานที่บ้านเกิดอีกด้วย

เราจึงจำเป็นต้องเข้าใจว่าการกลับบ้านมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ และเงินทุนที่เรามีนั้นเพียงพอต่อการกลับบ้านหรือไม่ สิ่งนี้คือสิ่งที่คนคืนถิ่นจำเป็นต้องคำนึงถึงให้มาก

วางแผนการเงินอย่างไร

เราต้องเข้าใจก่อนว่า แม้จะเป็นการหวนคืนถิ่น แต่การจะทำอะไรสักอย่างนั้น มักมีเรื่องของต้นทุน, กำไร, ขาดทุน เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ด้วยเสมอ

หากมีการวางแผนการเงินให้รอบคอบ เช่น มีการบันทึกรายรับ-รายจ่ายอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนว่าจะลงทุนไปกับอะไรบ้าง มีการจัดสรรเงินเป็นส่วน ๆ ว่าส่วนไหนเก็บไว้ใช้ ลงทุน และออมทรัพย์ ก็จะช่วยให้เราบริหารจัดการเงินทุนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

เพราะเงินที่มีอยู่อาจเป็นเงินก้อนสุดท้ายของชีวิต การใช้จ่ายทุกอย่างจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง และเห็นคุณค่าของเงินอย่างถึงที่สุด หากเงินที่มีอยู่หมดไป อาจสร้างความลำบากให้เราในภายหลังได้

จะหาเงินได้ที่ไหน

ในทุกการกลับบ้าน ใช่ว่าทุกคนจะมีเงินไว้สำหรับลงทุนกันทั้งหมด บางคนกลับบ้านพร้อมกับเงินก้อนโต แต่บางคนก็กลับมาเพียงมือเปล่าเท่านั้น แต่ถึงกระนั้นไม่ว่าคุณจะมีเงินทุนมากแค่ไหน หรือแทบไม่มีเงินทุนติดตัวเลย แต่สิ่งหนึ่งที่สร้างปัญหาให้คนคืนถิ่นคล้าย ๆ กันก็คือ จะหาเงินได้จากที่ไหน

คนที่จะสามารถตอบคำถามได้ดีที่สุดก็คือตัวเราเอง เราอาจต้องถามตัวเองให้ชัดว่ามีความถนัดในด้านใดบ้าง สิ่งนี้ต้องเริ่มจากแนวคิดหรือมายด์เซตก่อนว่า การกลับบ้านคือการอยู่รอดในรูปแบบหนึ่ง ถ้าหากเราสามารถใช้ความรู้ ความสามารถที่เราถนัด ปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นเงินได้ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จในการกลับบ้านแล้ว

แต่สำหรับคนที่ไม่มีแนวทาง หรือไม่เข้าใจกระบวนการกลับบ้านของตนเองว่าต้องการอะไร ยังมีอีกหนึ่งวิธีที่อาจช่วยให้เราสามารถอยู่รอดในถิ่นฐานบ้านเกิดได้ คือ การเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ที่สนับสนุนให้คนกลับมาพัฒนาบ้านเกิด เช่น โครงการอาสาคือถิ่น และโครงการอื่น ๆ เป็นต้น

ซึ่งโครงการเหล่านี้จะมีเงินทุนบางส่วนให้เราได้ออกแบบการกลับบ้านของเราได้ อีกทั้งยังช่วยโอบอุ้มความคิด จิตใจของเรา ให้ต่อมีความกล้าที่จะต่อสู้เพื่อพัฒนาตัวเอง และชุมชนของเราให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไปได้

แต่การเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ก็เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น สุดท้ายแล้วเราต้องคิดให้มากว่า หากไม่มีโครงการเหล่านี้หนุนเสริม เราจะอยู่รอดในชุมชนจากการหาเงินในรูปแบบไหนได้อีกบ้าง ?

ไลฟ์สไตล์ส่วนตัวที่อาจแตกต่างจากคนในชุมชน

ตอนเป็นเด็ก พ่อ-แม่ ขวนขวายหาเงินเพื่อให้เรามีโอกาสได้เรียนในที่ดีดี ท่านจึงขายไร่ ขายนา ส่งเราเรียนที่ต่างจังหวัด หรือ กรุงเทพฯ ให้เราเรียนปริญญาสูง ๆ เพื่อจะได้หางานทำในเมืองใหญ่ มีรายได้เป็นเดือนดีกว่าเป็นชาวนาที่รายได้ไม่แน่นอน ยิ่งถ้าได้เป็นข้าราชการ มียศ มีตำแหน่ง มีเงินเดินมั่นคง เราสามารถส่งเงินให้พ่อแม่ใช้ที่ต่างจังหวัดได้ทุกเดือน สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นค่านิยมที่ผลักไสคนหนุ่ม-สาว ให้ไกลจากชุมชนบ้านเกิดมากขึ้นทุกที

เมื่อคนรุ่นใหม่ได้รับการศึกษา ฝึกฝนทักษะ และความสามารถจนชำนาญแล้ว แม้จะได้ชื่อว่าเติบโตจากชนบท แต่ด้วยสภาพทางสังคมของชุมชนที่ค่อนข้างล้าหลัง ทำให้มีคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย รู้สึกได้ถึงความแตกต่างระหว่างตนเองกับชุมชน

จากบทเรียนของอาสาคืนถิ่น รุ่น 1-6 พบว่ามีอาสาจำนวนไม่น้อยที่เมื่อกลับชุมชนไปแล้ว ต้องพบปัญหาเรื่องไลฟ์สไตล์ส่วนตัวที่แตกต่างจากคนในชุมชนอยู่พอสมควร

เนื่องจากบริบทของชนบทในประเทศไทยเป็นสังคมกสิกรรมเป็นหลัก ชาวชุมชนรุ่นเก่าจึงมีอาชีพเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ และอาจมีผู้คนอีกจำนวนหนึ่งที่ทำอาชีพค้าขาย ไปจนถึงรับจ้างทั่วไป

ในทางกลับกัน คนหนุ่ม-สาวที่หวนคืนถิ่น กลับไม่ได้มีทักษะด้านเกษตรกรรมเท่ากับกับคนรุ่นก่อน เนื่องจากพวกเขาต่างได้รับความรู้ตามสาขาวิชาที่ได้ร่ำเรียนมา อย่างเช่น บางคนเป็นศิลปิน นักการเงิน นักกิจกรรม วิศวกร นักการตลาด เป็นต้น จึงทำให้มีไลฟ์สไตล์ที่ค่อนข้างโดดเด่นเฉพาะตัว ทำให้เมื่อต้องกลับมาอยู่ในชุมชนที่เป็นสังคมเกษตรกรรมแล้ว จึงยากต่อการปรับตัว

กระทั่งกับคนที่ไม่ได้เรียนสูงมากนัก แต่ต้องออกจากชุมชนเพื่อหางานทำ และเคยชินกับชีวิตต่างจังหวัด หรือชีวิตในกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย ทุกอย่างต้องเร่งรีบตลอดเวลา เมื่อได้ใช้ชีวิตคนเมืองจนเคยชินแล้ว ทำให้ทุกครั้งที่กลับบ้านเกิด พวกเขาจะนำแนวคิด และไลฟ์สไตล์แบบคนเมืองกลับมาด้วย

จากความแตกต่างด้านไลฟ์สไตล์นี้เอง ทำให้หลายครั้งเกิดปัญหาความไม่เข้าใจกันขึ้นระหว่างคนคืนถิ่นกับคนในครอบครัว ตลอดไปถึงคนในชุมชนด้วย

ซึ่งในเรื่องความคิด ความอ่าน และความชอบส่วนตัว ต่างเป็นสิ่งที่บังคับกันไม่ได้ ยิ่งเมื่อเราต้องอาศัยอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนจำนวนมาก สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ “การยอมรับในความแตกต่างทางความคิดซึ่งกันและกัน”

แม้ว่าจะมีวิถีการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันอยู่บ้าง เพราะต่างคนต่างความถนัด ต่างคนต่างความคิด ต่างความเชื่อ และต่างมุมมอง แต่ถ้าหากเราเปิดใจยอมรับในความแตกต่างซึ่งกันและกัน สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ บนพื้นฐานของเหตุและผล ชุมชนของเราก็จะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน การกลับบ้านของเราก็จะไม่กลายเป็นสิ่งที่ยุ่งยากซับซ้อนอีกต่อไป

กลับมาบ้านแล้วทำอะไร

หลายคนต้องออกจากบ้าน เพื่อแสวงหาชีวิตที่ดีขึ้นกว่าเดิม, ชีวิตที่ไม่ต้องลำบาก และต้องคอยต่อสู้กับความยากจนในท้องถิ่น ที่มองไปทางใด ก็พบแต่ท้องไร่ท้องนาแห้งแล้ง ดูสิ้นหวัง หดหู่ใจ

บางคนมีหน้าที่การงานดี, บางคนมีเงินเดือนหลายหมื่น, บางคนเรียนจบสูง มีทักษะความสามารถมาก  แต่กระนั้นชีวิตต่างเมืองอย่างไรก็ไม่เหมือนบ้านเรา แม้จะเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย แต่กลับหาความสงบใจไม่พบ ด้วยเหตุนี้หลายคนจึงเลือกกลับบ้าน เพื่อไขว้คว้าหาความสุขที่บ้านเกิดของตนเองอีกครั้ง

“กลับมาบ้านแล้วจะทำอะไร” นี้คือคำถามแรก ๆ ที่คนกลับบ้านจะได้พบ แม้มันอาจเป็นเพียงคำถามที่เรียบง่าย แต่คำตอบกลับยากในตัวของมันเอง

ด้วยสภาพทางเศรษฐกิจชนบทของประเทศไทยนั้นมีปัญหาหลายด้าน ซึ่งแต่ละท้องถิ่นล้วนมีปัญหาแตกต่างกันออกไป แต่โดยทั่วไปแล้วปัญหาส่วนใหญ่ที่มีเหมือนกันคือ ‘ปัญหาความยากจน’ กับ ปัญหาความล้าหลังทางเศรษฐกิจซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ และด้วยปัญหาเหล่านี้ที่กดทับคนชนบทมาช้านาน ทำให้พวกเขาไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะถูกถามว่ากลับมาบ้านแล้วจะทำอะไร เพราะด้วยสภาพแวดล้อมที่แทบจะทรุดโทรมในทุกด้าน บางพื้นที่ไม่สามารถเพาะปลูกได้ผลผลิตตามเป้าหมาย ค้าขายไม่ได้กำไร รับจ้างก็ไม่พอใช้ จะทำอะไรก็ติดขัดไปหมด

การกลับมาเริ่มต้นที่บ้านใหม่อีกครั้งจึงไม่ง่ายอย่างที่คิด และเมื่อไตร่ตรองดูแล้ว มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะสามารถสร้างตัวเองให้อยู่รอดในชุมชนได้อย่างยั่งยืน

อีกทั้งเรายังต้องต่อสู้กับสภาวะโดดเดี่ยวที่ไม่มีใครเข้าใจ เพราะทันทีที่กลับบ้าน ผู้คนจะมองว่าเราล้มเหลว และพร้อมบั่นทอนจิตใจของเราด้วยคำพูด และการกระทำ ดังนั้นในช่วงแรกของการกลับบ้านจึงต้องต่อสู้กับความไม่เข้าใจของคนในชุมชนพอสมควร

“กลับมาบ้านแล้วจะทำอะไร ?” จึงไม่ได้เป็นคำถามที่ผู้อื่นถามเราเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มันสามารถเป็นคำถามที่เราถามตัวเองได้ด้วยเช่นกัน

แม้ว่าการกลับบ้านจะไม่ได้มีรายละเอียดซับซ้อน เพราะบ้านยังคงเป็นบ้านเสมอ หากเราเพียงคิดว่าต้องการกลับบ้านเพื่อพักผ่อน หรือเฝ้าดูหัวใจตัวเองว่าแท้จริงมีจุดหมายคือสิ่งใดกันแน่ การกลับบ้านเพียงชั่วคราวก็อาจเป็นสิ่งที่ไม่ยากเกินความเข้าใจมากนัก

แต่หากเราคือผู้มีความแน่วแน่ในอุดมการณ์ที่จะกลับบ้านเกิด เมื่อมองจากปัญหาหลักที่ทุกชนบทมี เราควรถามตัวเองให้มาก ๆ ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง แล้วเราจะใช้ทักษะที่มีเพื่อพัฒนาตัวเองให้อยู่รอดไปพร้อมกับชุมชนได้มากขนาดไหน ?

เพราะทุกการเริ่มต้นย่อมมีอุปสรรคเสมอ ถ้าหากว่าเรามีหัวใจของคนที่ไม่ยอมแพ้ และพร้อมจะทำอะไรสักอย่างให้เป็นรูปธรรมเพื่อตนเองและชุมชนได้แล้ว

การตอบคำถามว่ากลับมาบ้านมาทำอะไร ก็จะเป็นคำถามที่ตอบได้อย่าง่ายดายทันที

ที่ดินทำกิน

ดิน มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นเเหล่งที่มาของปัจจัยในการดำรงชีพของมนุษย์ เช่น การสร้างที่อยู่อาศัย อาหาร ปศุสัตว์ รวมถึงยังเป็นแหล่งเจริญเติบโตของพืช ดินจึงมีความสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อมนุษย์อย่างปฏิเสธไม่ได้

ในส่วนของคนรุ่นใหม่กลับบ้าน “ที่ดินทำกิน” นับว่ามีความสำคัญไม่ต่างจากปัญจัย 4 ที่ขาดไม่ได้  เนื่องจากที่ดินมีผลต่อการหวนคืนถิ่นที่อาจเป็นตัวชี้วัดการอยู่รอดในชุมชนไม่มากก็น้อย

หากมีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง ก็จะช่วยลดต้นทุนได้หลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องค่าเช่าที่ซึ่งแพงแสนแพงจนอาจจ่ายไม่ไหว แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับที่ดินทำกินซึ่งคนรุ่นใหม่กลับบ้านพบอยู่เป็นประจำมักมีอยู่ 2 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

ไม่มีอิสระเต็มที่ เพราะครอบครัวไม่สนับสนุน

การที่เราจะพลิกหน้าดินทำอะไรสักอย่าง หมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ดินครั้งใหญ่ แน่นอนว่าหากเป็นที่ดินในเขตชนบท การใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่มักอยู่ในภาคของการเกษตร เนื่องจากการเพาะปลูกหรือทำกสิกรรมเป็นทั้งอาชีพและวิถีชีวิตที่อยู่คู่สังคมไทยมาช้านาน นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารเพื่อการดำรงชีพแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกด้วย

แต่เนื่องจากคนไทยทำเกษตรมาหลายชั่วอายุคน กระนั้นกลับมีสัดส่วนของรายได้ลดลง จนทำให้เกิดวาทกรรมที่ว่า “ชาวนายากจน” เพราะยิ่งทำนาเท่าไหร่ ยิ่งยากจนมากเท่านั้น

จึงไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อคนรุ่นใหม่เลือกกลับมาสานต่อวิถีชีวิตของบรรพบุรุษในชุมชนของตนเอง จึงมักไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากคนในครอบครัวมากนัก ยิ่งถ้าเกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินด้วยแล้วก็ยิ่งเป็นเรื่องยาก เพราะคนไทยทำกสิกรรมมาหลายชั่วอายุคน หากมีใครสักคนเลือกที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการไปทำอย่างอื่น ก็จะได้รับแรงต้านที่ค่อนข้างหนักหน่วงจากคนในครอบครัว

แม้กระทั่งกับคนที่เลือกกลับมาทำเกษตรเอง ก็ยังไม่ได้รับความสนับสนุนจากครอบครัวอย่างเต็มที่ เพราะพวกเขารับรู้ได้ถึงความยากลำบากในการทำการเกษตร จึงไม่อยากให้คนรุ่นใหม่ต้องลำบากเช่นเดียวกับตนเอง

ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง

ในส่วนของผู้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นตัวเองนับว่าเป็นปัญหาใหญ่พอสมควร ซึ่งบางคนแก้ปัญหาโดยการเช่าที่ดินจากผู้อื่นเพื่อทำกิน จนทำให้เกิดปัญหารายรับไม่พอกับรายจ่าย เพราะต้องแบ่งเงินบางส่วนให้กับค่าเช่าที่ดินอีกด้วย

ถึงกระนั้นก็ยังมีคนรุ่นใหม่กลับบ้านอีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกแก้ปัญหาด้วยการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ให้เกิดประโยชน์ตามความถนัดของตน เช่น ขายสินค้าออนไลน์ หรืออื่น ๆ เนื่องจากช่วยลดต้นทุน และไม่ต้องปวดหัวเรื่องคน ทั้งยังเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่า

แต่ทว่าก็ใช่ว่าทุกคนจะอยากทำอาชีพออนไลน์กันทั้งหมด บางคนอาจมีความฝันอยากทำเกษตร หรือเปิดร้านอาหารที่มีหน้าร้านเป็นของตัวเอง ซึ่งการไม่มีที่ดินทำกินก็นับเป็นปัญหาใหญ่ ที่มีผลต่อการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ได้มากพอสมควร

เพื่อนร่วมทีมในชุมชน

วันที่ออกจากบ้าน เราคือความหวังของครอบครัว ที่แบกภาระหนักอึ้งไว้บนบ่า เพราะต้องต่อสู้กับความคาดหวังของคนในครอบครัว ตลอดจนตัวเราเอง ที่ต้องการจะประสบความสำเร็จกับอะไรบางอย่าง ไม่ว่าเรื่องงาน การเรียน หรือเรื่องอื่น ๆ

แต่เมื่อการออกไปใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ยังไม่ตอบโจทย์ การกลับบ้านจึงนับเป็นทางเลือกที่ดีไม่น้อย เพราะภายในชุมชนมีบรรยากาศที่โหยหา เต็มไปด้วยสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม ทั้งชีวิตผู้คนที่เงียบสงบ และคนในพื้นที่ที่ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็รู้จักกันหมด

เราจึงหวนคืนถิ่นพร้อมกับความคิด ความฝัน แรงกาย แรงใจที่พร้อมจะกลับบ้านเกิด แต่การกลับบ้านก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะต้องต่อสู้กับแนวคิดของคนในชุมชนที่ค่อนข้างจะเห็นต่างเรื่องการกลับบ้านว่า “เป็นความล้มเหลวของชีวิต”

กระนั้นด้วยช่องว่างภายในชุมชนที่ผลักไสคนหนุ่ม-สาว ให้ออกจากชุมชน ทำให้สังคมชนบทเต็มไปด้วยคนชราและเด็กมากกว่าคนหนุ่มสาว

เราพยายามมองหาคนเข้าใจ แต่กลับมีคนเข้าใจในชุมชนเพียงน้อยนิด จึงประสบปัญหาทางด้านจิตใจ ที่กลายเป็นความเปล่าเปลี่ยวอ้างว้างในช่วงเเรก ๆ ของการกลับบ้านในทันที

หากมีเพื่อนสักคนที่เข้าใจกันคงดีไม่น้อย ดังนั้นการมองหา “เพื่อนร่วมทีม” ที่มีแนวคิดคล้ายกันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งเพื่อนไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มีวัยเดียวกันก็ได้ อาจจะคนในครอบครัวหรือเป็นใครสักคนที่มีความสนใจแบบเดียวกัน

การมีเพื่อนร่วมทีม ทำให้นึกถึงคคำกล่าวที่ว่า “มนุษย์เป็นสัตว์สังคม” ก็เปรียบเสมือนการมีเครือข่ายที่มั่นคง มีการระดมความคิด วิธีการ เพื่อช่วยเหลือกันและกัน นอกจากนี้เพื่อนร่วมทีมจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่สามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง

คล้ายกับแนวคิดของผู้เข้าร่วมในโครงการอาสาคืนถิ่น รุ่น 1-6 ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เราไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จเพียงตัวคนเดียวได้ เนื่องจากเสียงของเราจะไม่ดังพอให้ผู้อื่นได้ยิน หรือสนใจสิ่งเรากำลังสื่อสารออกไป อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะล้มเหลวอีกด้วย

ยิ่งหากเรามีความต้องการอยากกลับมาเริ่มต้นทำอะไรสักอย่างที่บ้าน การมีเพื่อนคู่คิดย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้

เพื่อนร่วมทีมที่ดีจะช่วยให้การกลับบ้านของเราไม่โดดเดี่ยว ให้ความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่การมองหาเพื่อนร่วมทีมก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากในช่วงแรก เพราะเราต้องทุ่มเทและอดทนพอสมควรเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเรามุ่งมั่นต่อการกลับบ้านของเรามากแค่ไหน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การกลับบ้านจะประสบความสำเร็จได้ เราจำเป็นต้องอาศัยความรู้เป็นต้นทุน และเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมในชุมชนเป็นตัวกำหนดด้วย และสิ่งสำคัญคือแรงสนับสนุนจากเพื่อนร่วมทีม ครอบครัว ที่จะช่วยเติมเต็มให้ทักษะการกลับบ้านของเราพัฒนาขึ้นไปสู่การยอมรับของชุมชนได้

การจัดการความสัมพันธ์

จากบทเรียนของอาสาคืนถิ่นรุ่นที่ 1-6 พวกเขาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อเลือกตัดสินใจกลับบ้านเกิด สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือเรื่องความสัมพันธ์ 2 อย่างที่ต้องพบเจออย่างแน่นอน

อย่างแรกคือ ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว มีคนรุ่นใหม่กลับบ้านจำนวนไม่น้อยที่ต้องพบปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับคนในครอบครัว อาทิเช่น ครอบครัวไม่เข้าใจ จนทำให้ไม่กล้าปรึกษาปัญหาต่าง ๆ กับคนในครอบครัว

แต่ก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่สามารถจัดการเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวได้ ทำให้การกลับบ้านเป็นไปได้อย่างราบรื่น และมีสภาพจิตใจอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดี

การจัดการเรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวจึงต้องทำอย่างระมัดระวัง อย่างเช่นว่า ต้องมีการพูดคุยกันเป็นประจำ, ให้เวลากับคนในครอบครัวบ้าง, เคารพซึ่งกันและกัน, รวมไปถึงการแก้ปัญหาด้วยเหตุผลมากกว่าการใช้อารมณ์

แน่นอนว่า เรื่องการกลับบ้านย่อมมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งความสัมพันธ์เหล่านี้ต่างเป็นสิ่งละเอียดอ่อน และอาจมีผลกระทบไปถึงสภาพจิตใจของคนในครอบครัวได้ เราจึงต้องมีการจัดการตัวเอง เพื่อใหความสัมพันธ์ระหว่างเรากับคนในครอบครัวเป็นไปได้ด้วยดี การกลับบ้านของเราก็จะมีความสุข สภาพจิตใจของเราก็จะดีขึ้นไปด้วยเช่นกัน

อย่างที่สองคือ ความสัมพันธ์ในชุมชน หมายถึง ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับชุมชน ที่บางคนอาจมีความสัมพันธ์ที่ดีและไม่ดีก็ได้ตามความเหมาะสมของบุคคล

อย่างไรก็ตาม หากมองให้ลึกในระดับปัจเจกบุคคล ซึ่งล้วนมีความชอบ หรือความถนัดที่แตกต่างกัน แต่เมื่อมาอยู่รวมกันในชุมชนที่เป็นสังคมขนาดใหญ่ จึงเกิดคำถามตามมาว่า เรามีความสัมพันธ์กับคนในชุมชนอยู่ในระดับไหน ?

เพราะความพันธ์ในชุมชนจะช่วยให้เราเข้าใจบทบาทของตัวเองว่าเราเป็นใครในชุมชน และเราสามารถทำอะไรให้ชุมชนของเราได้บ้าง

ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมี “มนุษย์สัมพันธ์ที่ดี” อันเปรียบเสมือนแรงจูงใจ ให้สามารถประสานงานกับคนในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้งานของเราสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี

โดยเฉพาะกับคนที่มีเป้าหมายเพื่อกลับไปพัฒนาบ้านเกิด ที่ต้องทำงานเป็นกลุ่มร่วมกันกับคนในชุมชน ซึ่งประกอบด้วยคนที่มีความถนัดแตกต่างกันออกไป และต้องอาศัยความร่วมมือกันเป็นหลัก

การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีจึงเป็นทางออกที่อาสาคืนถิ่นผู้ประสบความสำเร็จในการกลับบ้านมักเลือกใช้ เพราะจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ทีมงานไม่เบื่อหน่ายในการทำงาน อีกทั้งยังทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับงานอย่างเต็มที่

ดังนั้นนอกจากมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีที่ควรใช้กับคนในครอบครัวของเราแล้ว หลักมนุษย์สัมพันธ์ที่ดียังใช้ได้ดีกับคนในชุมชนอีกด้วย

เมื่อประเมินความสัมพันธ์ 2 อย่าง จากความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่กลับบ้านในโครงการอาสาคืนถิ่นแล้ว จะพบว่าการกลับบ้านไม่ง่ายอย่างที่คิด บนความท้าทายที่อาศัยการอยู่รอดและอยู่ร่วมในชุมชนเป็นหลัก สิ่งเหล่านี้คือข้อพิสูจน์ศักยภาพของคนรุ่นใหม่กลับบ้านที่ต้องผ่านพ้นไปให้ได้

เครือข่าย Connection

ภายหลังมีการระบาดของไวรัสโควิด 19 เมื่อปลายปี พ.ศ. 2562 กระแสการคืนถิ่นหรือการกลับบ้านของคนต่างจังหวัดมีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา (ปัจจุบัน พ.ศ. 2567) ทั้งที่ปกติเราจะพบเห็นคนกลับบ้านในช่วงเทศกาล เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ แต่โควิดทำให้เห็นว่าการกลับบ้านของคนต่างจังหวัดเกิดขึ้นเพราะสถานการณ์บังคับ

เมื่อเศรษฐกิจย่ำแย่ ห้างร้านถูกปิด ลูกจ้างหลายคนถูกไล่ออกจากงาน ส่งผลให้แนวโน้มที่ผู้คนจะตัดสิ้นใจกลับบ้านเริ่มมีสูงขึ้น

แม้ว่ายังไม่มีข้อมูลทางด้านสถิติที่แน่นอนเกี่ยวกับตัวเลขของคนกลับบ้าน แต่กระนั้นเราก็รับรู้ได้ทั่วกันว่ากระแสการกลับบ้านของผู้คนมีแนวโน้วสูงขึ้น ไม่เฉพาะแค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่หมายถึงทั่วโลกอีกด้วย

แต่การกลับมาอยู่บ้านไม่ใช่เรื่องง่ายในช่วงเริ่มต้น คนกลับบ้านส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับทัศนคติเกี่ยวกับคนหนุ่ม-สาวเมื่อเรียนจบควรหางานทำในเมือง เป็นข้าราชการ หรือทำงานเป็นเจ้าคนนายคน พวกเขาจึงต้องใช้ความอดทน และต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้คนในครอบครัวยอมรับ สิ่งนี้นับเป็นความท้าทายที่คนกลับบ้านทุกคนต้องเจอ

หากมีเครือข่าย (Connection) เป็นเพื่อนร่วมทางคอยเชื่อมโยงอุดมการณ์และพัฒนาศักยภาพของตัวเราเองคงดีไม่น้อย

ด้วยแนวคิดที่ทำให้คนต้องดิ้นรนเพื่อไปหาความเจริญนอกบ้านเกิด ชุมชนจึงขาดแคลนคนที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดอย่างจริงจัง ช่องว่างเกี่ยวกับคน 2 รุ่นในชุมชนจึงถูกเติมเต็มด้วยการมีเครือข่ายที่จะช่วยกันสร้างทรัพยากรที่มีมาใช้เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ให้กับบุคคล รวมถึงชุมชนให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ปัจจุบัน มีกลุ่มเครือข่ายที่สนับสนุนให้คนกลับบ้านหลายกลุ่มด้วยกัน เช่น โครงการอาสาคืนถิ่น ที่เปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่ได้เชื่อมโยงกับชุมชนบ้านเกิด โดยให้ผู้เข้าร่วมจัดทำโครงการของตนเองให้เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาตนเองกับชุมชนให้หยั่งยืนต่อไปได้

การจัดหาเครือข่ายที่มีความเกี่ยวข้องกับการกลับบ้านนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคนกลุ่มใหญ่ก็ได้ ขอแค่ให้มีจุดหมายร่วมกันในทางบวก ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกันในทางใด เช่น เป็นญาติ เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน นายจ้าง หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ตราบใดที่มีการเชื่อมสัมพันธ์เป็นเครือข่ายยึดโยงซึ่งกันและกัน ก็จะมีโอกาสช่วยให้การกลับบ้านเป็นไปได้โดยง่ายยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่า ข้อดีของการมีเครือข่ายก็คือช่วยให้เราทำทุกอย่างได้ง่ายขึ้น เช่น ได้รู้จักบทบาทของตัวเองในชุมชน เห็นคุณค่าของตัวเอง มีกำลังใจที่ดี และยังทำให้เรามีความกล้าที่จะเชื่อมั่นในตัวเองว่า เราสามารถอยู่รอดในชุมชนของเราได้อย่างแน่นอน

แต่เรานั้นต้องการเครือข่ายแบบไหน ก็ขึ้นอยู่ที่การมองหาของเราเอง เพราะเครือข่ายที่ดีจะช่วยเราจัดการเรื่องต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ตราบเท่าที่เราไม่ใช้ในทางที่ผิด หรือเดินหลงทางเสียก่อน การกลับบ้านของเราจะเต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข และอบอุ่นด้วยมิตรภาพที่หาได้ยากยิ่งอย่างแน่นอน

ค่านิยม ความเชื่อ ในชุมชน

ในสังคมปัจจุบัน ผู้คนให้ความสำคัญกับค่านิยมการทำงานที่มีเม็ดเงินเป็นตัวชี้วัดความมั่นคงของชีวิต โดยเฉพาะค่านิยมภายในชุมชนที่มักปลูกฝั่งให้คนรุ่นใหม่รับราชการ หรือไม่ก็ออกไปทำงานในเมืองใหญ่ เพื่อโอกาสในการสร้างฐานะให้ดีขึ้นกว่าเดิม

ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้พิจารณาจากทรัพย์สิน สถานภาพทางสังคม เกียรติยศ อำนาจ ระดับการศึกษา อาชีพ ความดี ชาติกำเนิด รวมถึงการเป็นเจ้าคนนายคน

เราไม่อาจรู้ได้อย่างแน่ชัดว่า ค่านิยมความเชื่อเหล่านี้เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสมัยใด ? แต่ที่พอจะอ้างอิงได้ คือหลังจากมีการประกาศแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 เมื่อปี พ.ศ. 2504 ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ผู้คนต่างตื่นตัวที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อการสร้างความมั่งคั่งให้กับชีวิต

การแข่งขันระหว่างบุคคล ไม่ว่าด้านการศึกษา การทำงาน หรือด้านอื่น ๆ ล้วนเกิดขึ้นในอัตราที่สูงขึ้น เพราะทุกคนต่างต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนเอง

กระนั้นไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องความยากจนก็ไม่อาจแก้ไขได้ตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่จึงต้องต่อสู้กับความคาดหวังของครอบครัวที่ต้องการให้ลูกหลานมีหน้าที่การงานที่ดี โดยเฉพาะกับความเชื่อที่ว่า “ต้องรับราชการเท่านั้น” ชีวิตจึงจะประสบความสำเร็จ

นานเข้าจึงกลายเป็นความเชื่อในชุมชนว่า การผลักไสลูกหลานให้ออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดคือความถูกต้อง และสามารถนำความสำเร็จมาสู่ชุมชนได้

แต่การออกไปใช้ชีวิตในสังคมภายนอกก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด ด้วยปัจจัยหลายอย่าง อาทิเช่น สภาพสังคม เศรษฐกิจ รวมถึงสภาพจิตใจ ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อาจปรับตัวให้เข้ากับชีวิตต่างเมืองที่ไม่คุ้นเคยได้ พวกเขาจึงมีความมุ่งหวังอยากกลับถิ่นฐานบ้านเกิด เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ของตนเองอีกครั้ง

ซึ่งอย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ด้วยแนวคิดเกี่ยวกับการออกไปหาโอกาสเพื่อความมั่งคั่งของชีวิต ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถหลีกหนีคำถาม หรือพบกับแนวคิดที่ว่า “การกลับบ้านคือความล้มเหลวของชีวิต” พวกเขาจึงเผชิญกับความโดดเดี่ยวครั้งใหญ่ เพราะความเชื่อเหล่านี้ได้ฝั่งรากลึกลงไปเกินกว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว

นอกจากนี้ยังมีเรื่องของบริบทชุมชนที่แตกต่างกัน อย่างเช่นว่าในชุมชนแห่งหนึ่งมีแนวคิดเรื่องสังคมด้านการเกษตร พวกเขาจะยินดีอย่างมากที่ลูกหลานเลือกกลับมาทำอาชีพด้านการเกษตรที่ตกทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ แต่ทว่าคนรุ่นใหม่กลับไม่ชื่นชอบที่จะทำการเกษตร เพราะมีความถนัดในด้านอื่นมากกว่า

แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน แต่ด้วยสภาวะความแตกต่างระหว่างแนวคิดของคนรุ่นใหม่กับคนรุ่นเก่า จึงเกิดเป็นความไม่เข้าใจกันจนนำไปสู่สภาวะโดดเดี่ยวทางความคิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ดังนั้นการปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าเราต้องการจะเอาชนะค่านิยม ความเชื่อเดิมของชุมชนล้วนทำได้ยาก แต่ถ้าเราเรียนรู้ที่จะหาจุดเชื่อมโยงระหว่างตนเอง ครอบครัว และชุมชนให้มีจุดยืนรวมกันได้ เชื่อเหลือเกินว่าเราจะสามารถเปลี่ยนแปลงค่านิยมเรื่องการคืนถิ่นในชุมชนให้เกิดการยอมรับได้เช่นกัน

ขอเพียงไม่ยอมแพ้ และก้าวข้ามอุปสรรคด้วยความอดทน เราจะค้นพบความสุขบนถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเองได้อย่างแน่นอน

คำถามจากครอบครัว

ในยุคที่ทุกคนโหยหาความมั่นคงให้ชีวิต “การกลับบ้าน” แม้จะฟังดูเรียบง่าย แต่กลับทำได้ยาก เพราะสิ่งแรกที่คนกลับบ้านจะต้องเจอก็คือ ‘คำถามจากครอบครัว’

ซึ่งแต่ละคำถามขึ้นกับผู้ถามว่าต้องการคำตอบแบบไหน แต่ในกรณีของคนกลับบ้าน พวกเขาจะต้องพบกับคำถามเหล่านี้คือ “กลับบ้านมาทำไม ?” หรือ “กลับมาแล้วจะทำอะไรต่อ ?”

ฟังดูเป็นเพียงคำถามทั่วไปที่เราสามารถได้ยินอยู่บ่อย ๆ ซึ่งผู้ถามอาจถามเพราะความห่วงใย หรือถามเพราะต้องการรู้จริง ๆ ว่าเรามีแผนในการกลับบ้านอย่างไรบ้าง ?

แต่ในความธรรมดาของคำถามเหล่านี้ได้แอบซ่อนสิ่งที่น่าขบคิดอยู่ด้วยเช่นกันคือ เมื่อเรากลับบ้าน เหตุใดจึงต้องคอยตอบคำถามว่า ‘ทำไมเราต้องกลับบ้าน’ สิ่งนี้ชวนให้สงสัยอยู่ว่า เมื่อบ้านเป็นบ้านของเรา ดังนั้นเราควรมีสิทธิ์กลับมาอยู่บ้านเมื่อไหร่ก็ได้ใช่หรือไม่ ? ซึ่งความจริงก็ควรเป็นเช่นนั้น แต่ในความปกติธรรมดานี้ กลับมีสิ่งที่ไม่ปกติเกิดขึ้นก็คือ ‘ทำไมเราจึงกลับบ้านของเราไม่ได้ ?’

ด้วยสภาวะสังคมของชนบทที่ผลักให้คนรุ่นใหม่ต้องออกจากบ้าน และด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับผู้คน ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรต่าง ๆ อันมีส่วนทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวในชุมชนบ้านเกิดได้ พวกเขาจึงจำเป็นต้องออกหางานทำที่ต่างจังหวัดเพื่อสร้างโอกาสในการเติบโตของชีวิต ซึ่งสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายออกไปโดยอัตโนมัติ

เมื่อมีใครสักคนคิดอยากกลับบ้าน พวกเขาจะต้องเจอกับคำถามที่ถาโถมเข้าใส่ประหนึ่งพายุลูกใหญ่ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะในขณะที่คนรุ่นราวคราวเดียวกันกำลังสู้งานอยู่ที่ต่างจังหวัด เรากลับเป็นคนกลุ่มน้อยเพียงไม่กี่คนที่เลือกกลับบ้าน

ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ทุกครั้งเมื่อเราหวนคืนถิ่น เราจะถูกมองว่าเป็นคนตกงาน หรืออาจมีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นกับชีวิต

ถึงแม้ว่าเราจะเป็นคนตกงานที่เหน็ดเหนื่อยกับสภาวะเงินขาดมือในต่างจังหวัด หรืออาจเป็นคนที่มีเงินพร้อมมือแต่อยากกลับมาทำอะไรสักอย่าง รวมไปถึงเราอาจเป็นเพียงคนที่คิดถึงบ้านเกิด และอยากกลับบ้านเพราะโหยหาถิ่นฐานอันคุ้นเคยเฉกเช่นในอดีต

แต่หากการกลับบ้านคือจุดหมายปลายทางของเรา คำถามเหล่านี้ก็เป็นเพียงด่านแรกที่เราจะต้องผ่านมันไปให้ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือเรามีคำตอบให้กับคำถามเหล่านี้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าเราไม่จำเป็นต้องตอบทุกคำถามก็ได้!

“เพราะการกลับบ้าน” ไม่ใช่เพียงความสุขที่ให้คุณค่าทางจิตใจของเราเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึง การหวนคืนถิ่นของคนหนุ่ม-สาว ที่เต็มไปด้วยพลังกาย พลังใจ และความคิดใหม่ ๆ ให้กับบ้านเกิดของตัวเอง

แม้จะมีความไม่เข้ากันอยู่บ้างระหว่างคนในครอบครัว แต่การเปลี่ยนแปลงย่อมมีความขัดแย้งเป็นธรรมดา หากเราเปิดใจยอมรับซึ่งกันและกัน และหาแนวทางระดมความคิดเพื่อให้เกิดการผสมผสานสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่ให้กลมกลืนกันได้แล้ว “การกลับบ้าน” ก็จะเป็นความสุขที่ยั่งยืนของเรา ครอบครัว และชุมชนได้อย่างแน่นอน

 

ผู้เขียน : ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด