จุดเริ่มต้นการกลับบ้านของ “ไทด์”

เกือบสามปีแล้วที่เขากลับบ้านเขาชอบออกจากบ้านเป็นประจำในยามเช้าตรู่ เพราะมันคือช่วงเวลาที่แสนพิเศษ คล้ายกับได้เห็นสายลมเต้นรำอยู่บนกิ่งไม้ แสงแรกของวันทาทาบอยู่เหนือปุยเมฆสีทองอร่ามตา ความเย็นจากไอหมอกเรียงรายราวกับท้องทะเลที่มีคลื่นสงบ โดยมีหยาดน้ำค้างให้ความชุ่มชื่นบนยอดหญ้ากลางพื้นดิน บรรยากาศอบอุ่น และไร้ความกังวล เขาอดไม่ได้ที่จะหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายภาพ เพื่อบันทึกสิ่งเหล่านี้เก็บไว้ในคมเลนส์แห่งความทรงจำ มันสร้างแรงบันดาลใจให้เขา ได้เรียนรู้ที่จะซึมซับความงดงามแห่งบ้านเกิด ซึ่งห่างหายไปนานหลายปี

‘พิชชานนท์ เจริญวัฒนวิญญู’ หรือ ‘ไทด์’ เป็นชาวบ้านทุ่งอ่วน ม.9 ต.กาญจนา อ.เมืองแพร่ จ.แพร่ เขาต้องพบกับความเคว้งคว้างครั้งใหญ่ในการอยู่บ้าน เนื่องจากต้องอยู่ท่ามกลางคนที่ไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะคนในครอบครัว ที่ไม่เข้าใจว่าเขากำลังทำอะไรอยู่

เริ่มต้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2563 เขาถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร ตามกฎหมายที่กำหนดให้ชายไทยทุกคนต้องเข้ารับการคัดเลือกเป็นทหารเกณฑ์ และใช้ชีวิตอยู่ในค่ายเป็นเวลาหนึ่งปี ไทด์ได้เรียนรู้หลายสิ่งระหว่างที่อยู่ในค่าย แต่หลังจากปลดประจำการได้ไม่นาน เขาเลือกกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดในจังหวัดแพร่ ด้วยเหตุผลทางสุขภาพเป็นหลัก “ผมมีโรคภูมิแพ้ มันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผมใช้ชีวิตในกรุงเทพลำบาก” ไทด์อธิบาย

เด็กหนุ่มผู้นี้ ใช้ชีวิตโลดโผนในกรุงเทพเป็นเวลาหนึ่งปีกว่า (ปี 2561-62) เขาเคยฝึกงานอยู่ในกองถ่าย แล้วเปลี่ยนไปเป็นฝ่ายขายให้กับห้างสรรพสินค้าในย่านธนบุรีเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ก่อนจะพบว่าตัวเองใช้ชีวิตลำบากอย่างยิ่ง เขาต้องพบเจอกับปัญหารถติดไม่เว้นวัน ปัญหาควันพิษจากรถยนต์ทำให้เขาหายใจไม่สะดวก รวมถึงปัญหาอื่น ๆ ที่ค่อนข้างบั่นทอนจิตใจให้เขารู้สึกท้อแท้กับชีวิตในกรุงเทพที่แสนแออัด อย่างเหลือจะทน ดังนั้น หลังจากปลดประจำการ ไทด์จึงเลือกกลับมาอยู่ที่บ้านอย่างไม่ลังเล

แต่มันกลับไม่ได้สวยหรูอย่างที่ไทด์คิดไว้ เขาไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นจากส่วนไหนก่อน แต่ที่เลวร้ายไปกว่านั้น คือการเริ่มต้นกลับมาที่บ้านเกิด แม้พื้นที่แห่งนี้จะเงียบสงบ เต็มไปด้วยป่าเขา และอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี แต่ก็ไม่เอื้อให้เด็กหนุ่มอย่างเขา สามารถกลับมาอยู่บ้านได้อย่างสะดวกสบายนัก

โดยเฉพาะการต้องอยู่ท่ามกลางคนที่เห็นต่าง ซึ่งไทด์จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองอย่างมาก เขาเผชิญหน้ากับความเปลี่ยวเหงาที่ไม่อาจบอกใครได้ แม้กระทั้งคุณพ่อ หรือคุณแม่ของเขาเอง สิ่งเดียวที่พอช่วยเยียวยาจิตใจของเขา ให้หายจากความเปลี่ยวเหงาได้ คือการออกไปถ่ายภาพทิวทัศน์บริเวณรอบหมู่บ้าน ซึ่งเขามักทำเป็นประจำในยามเช้าตรู่

ด้วยมือถือเครื่องเดียวที่มี ไทด์จะขับมอเตอร์ไซค์คันเก่าคันเดิม ฝ่าถนนคอนกรีตอันเต็มไปด้วยผืนหญ้าและทุ่งนาที่ถูกโอบล้อมด้วยภูเขากว้างใหญ่ เพื่อถ่ายภาพสิ่งที่พบเห็น เก็บไว้เป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเขาได้ค้นหาแนวทางที่เหมาะสมกับการอยู่บ้านของตัวเองต่อไป “ทุกพื้นที่ล้วนมีแนวทางที่หลากหลาย ผมชอบออกไปข้างนอก เพื่อหาหลู่ทางที่เหมาะกับตัวเอง” ไทด์กล่าว

จากการออกสำรวจเกือบทุกวัน ทำให้ไทด์ได้เห็นความสวยงามของบ้านเกิดในมุมที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เขาเห็นแสงอ่อนยามเช้าที่สวยงามตรึงใจ กำลังสาดแสงสีเหลืองทองอร่ามตาผ่านช่องหมอกและทิวไม้ที่ระริกไหวอย่างอ่อนโยน นกกาส่งเสียงไพเราะกว่าทุกวัน เสียงนั้นกล่อมให้ทุ่งนากว้างใหญ่ตื่นจากการหลับใหล ตัวเขาคล้ายได้รับการโอบกอดที่แสนอ่อนโยนจากธรรมชาติ ซึ่งอบอุ่นไปจนถึงขั้วหัวใจ หมู่บ้านเงียบสงบสมกับเป็นชนบท แต่ในความเงียบสงบก็ปะปนด้วยความหงอยเหงาเช่นกัน ไทด์ไม่ได้มองโลกเพียงด้านเดียว เขาพบว่าบ้านเกิดของเขา กำลังมีบางสิ่งเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ

ไทด์อาจไม่ใช่คนแรกที่มองเห็นความเปลี่ยนแปลงนี้ ซึ่งเขาสังเกตจากพืชพื้นถิ่นในบ้านเกิด เช่น มัลเบอรี่ หรือ มะเฟือง ที่ถูกปล่อยทิ้งร้างตามข้างถนน แม้จะมีผลดกหนาเพียงใด ก็ไม่มีใครสนใจ ซึ่งเขาจำได้ดีว่าสมัยที่ยังเด็ก ผลไม้เหล่านี้ไม่เคยถูกปล่อยทิ้งจนเน่าเสีย และส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่วแบบนี้ เพราะผู้คนจะเก็บไปกินบ้าง หรือถูกตัดทิ้งบ้าง แต่หันมาดูทุกวันนี้ ไม่ใช่แบบนั้นอีกแล้ว อาจเป็นเพราะวัฒนธรรมที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ มักปลูกฝั่งให้ลูกหลานออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านเกิด ทำให้ในชุมชนถูกปล่อยปะละเลยไปมาก

ปัจจุบัน มีคนหนุ่มสาวอาศัยอยู่เพียงไม่กี่คน ไทด์เองก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ถูกปลูกฝั่งให้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านเกิด ซึ่งแม้จะมีข้อดีอยู่มากมาย แต่ข้อเสียที่เขาค้นพบด้วยตัวเอง คือเมื่อเวลาหวนคืนถิ่น เขากลับมีทักษะในการเอาตัวรอดในบ้านเกิดได้เพียงน้อยนิดเท่านั้น สิ่งที่ไทด์พบในประการต่อมาก็คือ ชาวบ้านส่วนใหญ่มักทำไร่แบบหมุนเวียน โดยจะสลับกันปลูกระหว่างข้าวและหัวหอม ตามฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่มีมานานก่อนที่ไทด์จะเกิดเสียอีก

แต่ข้อเสียก็คือชาวบ้านแข่งกันปลูก ปัญหาสารเคมีจึงเกิดขึ้นตามมา เกิดเป็นวัฏจักรน้ำที่ปะปนกับสารเคมีต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และเป็นปัญหาที่ยากต่อการแก้ไข ยิ่งชาวบ้านแข่งกันปลูกมากเท่าไร่ ก็ต้องใช้สารเคมีมากเท่านั้น เพราะถ้าหากผลผลิตของตนไม่ดี ก็จะไม่มีพ่อค้านายหน้า เข้ามารับซื้อผลผลิตของตนต่อไป

ด้วยเหตุนี้ ไทด์จึงไม่ทุ่มเทไปกับงานเกษตรมากนัก เพราะไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาสารเคมี ที่ก่อให้เกิดปัญหา หรือมลพิษต่าง ๆ บนนาข้าว ไทด์เลือกที่จะแปรรูปผลผลิตจากพืชท้องถิ่นในชุมชน อาทิเช่น มัลเบอรี่ มะเฟือง ฟักข้าว หรือพืชอื่น ๆ เท่าที่หาได้ มาทำเป็นเครื่องดื่ม ออกจำหน่ายให้คนในชุมชนรับประทาน ด้วยแนวคิด “อยากให้คนแพร่ คิดใหม่ ทำใหม่” เขาจึงเริ่มต้นจากการแปรรูปเครื่องดื่มท้องถิ่นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“เวลาผมออกไปหาวัตถุดิบ ไม่ว่าจะไปขอบ้านไหน เขาก็ให้ทุกบ้าน แต่ถ้ามีใครถามว่าเอาไปทำอะไร ผมก็บอกเขาไปตรง ๆ ว่า เอาไปทำเครื่องดื่มครับ ชาวบ้านเขาก็ให้ด้วยความเต็มใจ เพราะเขาไม่รู้ว่าถ้าเก็บไว้ ก็ไม่รู้จะใช้ประโยชน์อะไร” ไทด์อธิบาย

ด้วยความที่เป็นคนชอบทำเครื่องดื่มอยู่แล้ว ไทด์จึงมักเดินทางไปตามที่ต่าง ๆ เพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม บางทีหากพูดคุยกันถูกคอ ก็มักลงเอยด้วยการเป็นหุ้นส่วนกันก็มี นอกจากผลิตน้ำผลไม้ท้องถิ่นแล้ว ไทด์ยังมีความคิดอยากผลิตสุราของตัวเองอีกด้วย เพียงแต่ด้วยปัญหาหลายอย่าง ทำให้เขายังไม่สามารถเปิดบริษัทสุราของตัวเองได้ในเร็ว ๆ นี้

ปัจจุบัน ไทด์อยู่บ้านมานานเกือบสามปีแล้ว เขาเริ่มเรียนรู้เทคนิคในการอยู่บ้านมากขึ้น ซึ่งวิธีการที่เขาเลือกใช้ก็คือ การเรียนรู้จากคนที่อยู่บ้านมาก่อน ซึ่งเขาก็พัฒนาขึ้นมาก จนถึงขั้นสามารถให้คำแนะนำคนรุ่นใหม่ที่อยากกลับมาเริ่มต้นอยู่บ้านได้ดีในระดับหนึ่ง

ทว่าปัญหาใหญ่ที่สุดของไทด์ก็คือ ทางครอบครัวที่ไม่เห็นด้วยกับการอยู่บ้านของเขา เพราะสิ่งที่ไทด์กำลังทำอยู่ มันค่อนข้างใช้เวลา และไม่สามารถเห็นผลได้ทันที คนในครอบครัวจึงเป็นห่วง ว่าเขาจะล้มเหลวในการอยู่บ้าน จึงทำให้เขาและครอบครัวมักมีปากเสียงกันอยู่เป็นประจำ ทำให้ไทด์รู้สึกท้อแท้ เพราะยังสับสนอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ว่าเส้นทางที่ตัวเองกำลังเลือกเดินอยู่นี้ ถูกต้องจริงแล้วหรือเปล่า ?

กระนั้น แม้จะท้อแท้ แต่ไทด์ก็อยากจะเดินต่อไปให้สุดทางจริง ๆ ก่อน เพื่อปูทางให้คนรุ่นหลังที่มีความฝันอยากกลับบ้านเกิดเช่นเดียวกัน ได้คืนถิ่นอย่างถูกต้องมากขึ้นกว่าเดิม เหมือนอย่างที่ไทด์เคยกล่าวไว้ว่า

“อยากเห็นเด็กรุ่นใหม่ ที่กลับมาเห็นบริบทของชุมชนแล้วไม่ชอบ เกิดความคิดอยากเปลี่ยนแปลงชมชุน ก็ไม่อยากให้เขาถูกกดดัน ให้เขาสามารถกลับบ้านได้อย่างสบายใจ เพราะนี้คือบ้านของเขา”

ผู้เขียน : ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด


พิชชานนท์ เจริญวัฒนวิญญู

อาสาคืนถิ่นรุ่น 6 จังหวัดแพร่