หลังสิ้นฤดูเก็บเกี่ยว ท้องนาที่เคยมีพืชพรรณบนไร่หมุนเวียนเริ่มโล่งเตียนไปด้วยพื้นดินว่างเปล่า “บี้” ศุภชัย เสมาคีรีกุล รู้ดีว่าช่วงเวลาแห่งการเก็บเกี่ยวได้สิ้นสุดลงแล้ว บนเทือกเขาเบอบาตู ยังคงมีป่าไม้เขียวขจีโอบคลุมรอบหุบเขา
แสงแดดแผดเผาผ่านช่องว่างจากเมฆฟ้าตกกระทบสู่กิ่งไม้ให้เปล่งจรัสแสงจากดวงตะวัน ต้นไม้ขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็กแข่งกันโตท่ามกลางความสงัดเงียบ แต่ยังคงมีเสียงร้องของสัตว์ป่ากังวานขึ้นอย่างมีชีวิตชีวา สถานที่แห่งนี้ เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านในหุบเขาเล็ก ๆ ชื่อว่า ‘บ้านปางทอง’ ต.แม่วะหลวง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก
‘บี้’ เกิดและเติบโตที่นี่ เขาเป็นปกาเกอญอรุ่นใหม่ที่มีความคิดก้าวหน้า แต่ยังคงรักความเป็นชาวกะเหรี่ยงด้วยหัวใจนอบน้อม กระนั้นเอง เขาก็ยังคงหนักแน่นในอุดมการณ์เสมอ เด็กหนุ่มผู้นี้ เคยเป็นแก่นนำกลุ่มเยาวชนปกาเกอญอ ‘เบ๊อะบละตู’ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชน ให้คลี่คลายลงได้ด้วยการร่วมมือจากคนทุกฝ่ายในชุมชน โดยเฉพาะกับเยาวชนชาวปกาเกอญอ ที่เริ่มหลงลืมวัฒนธรรมประเพณีชาวกะเหรี่ยงอันเปรียบได้กับรากฐานสำคัญของการใช้ชีวิตภายใต้ผืนป่าที่ยิ่งใหญ่
บี้รู้ดีว่าไม่สามารถทำทุกอย่างคนเดียวได้ การหาแนวร่วมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่ก็ต้องพบกับปัญหาคนไม่เห็นด้วย ราวกับไฟป่าที่ไม่อาจควบคุมได้ ซึ่งบี้รู้ดีมาตลอด แต่เขาเข้าใจดีว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีความคิดเป็นของตัวเอง มันจึงเป็นการยาก ที่จะให้ทุกคนเห็นด้วยในสิ่งที่ตนกำลังทำอยู่
หลังจากเรียนจบ เมื่อปลายปี 2559 บี้กลับมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนชุมชนอย่างจริงจัง ด้วยจิตใจที่หนักแน่น เพราะชุมชนที่เขารัก กำลังเจอปัญหากับเจ้าหน้าที่อุทยาน ซึ่งเตรียมประกาศพื้นที่หมู่บ้านให้เป็นเขตอุทยาน ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้เขาต้องเสียสละมากเป็นพิเศษ
เขาต้องออกค่ายเป็นประจำ และยังรับหน้าที่เป็นคนกลางเพื่อประสานงานหรือไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้าน เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจกันมากขึ้น บี้บอกว่า “ตอนนั้น ผมกังวลกับการใช้ชีวิตอยู่บ้านมาก ทั้งกลัว ทั้งระแวง แต่ก็ต้องอดทน”
ปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวเริ่มคลี่คลายลงแล้ว บี้จึงเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อหาประสบการณ์ให้แก่ชีวิตต่อไป บี้ตัดสินใจก้าวออกจากชุมชนบ้านบ้านปางทองอีกครั้ง แล้วเลือกทำงานในโรงงานผลิตน้ำเปล่าที่จังหวัดลำพูน ที่นี่เองที่บี้เริ่มเข้าใจการทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น คือต้องเข้า – ออกงานตรงเวลา และต้องทำงานอย่างน้อย 8-9 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อแลกกับค่าแรงเพียงน้อยนิด ทำให้บี้ทำงานได้เพียง 2 เดือนก็ลาออกจากงานทันที
หลังจากนั้น บี้เดินทางไปที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อหางานที่เหมาะกับตัวเอง แต่ก็ทำได้เพียง 4 เดือนสุดท้ายจึงตัดสินใจลาออกจากงานอยู่ดี “การทำงานแบบนั้นเหมือนมันไม่มีอิสระ…มันไม่ใช่ตัวตนของผม แถมทำไปก็ไม่มีทางรวย เพราะมีรายรับไม่พอกับรายจ่าย…ผมเลยเลือกกลับมาหาอะไรทำที่บ้านดีกว่า” บี้อธิบาย
ปี พ.ศ. 2564 บี้ตัดสินใจขั้นเด็ดขาดที่จะกลับบ้าน เขาเล่าว่าตัวเองโชคดีที่มีพ่อ-แม่ให้อิสระได้เลือกทำสิ่งที่อยากทำ และพร้อมสนับสนุนในทุกเส้นทางที่บี้เลือกเดินเสมอ บี้พบว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเขา ไม่ใช่อะไรที่ยุ่งยากหรือซับซ้อนเลยแม้แต่น้อย เพราะมันคือสิ่งที่ได้พบเห็นอยู่ทุกวี่วัน และเติบโตกับสิ่งนั้นมาตั้งแต่เด็ก มันคือวิถีชีวิตแห่งการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งหล่อหลอมให้ตัวของเขาเติบโตขึ้นมากลายเป็นคนหนุ่ม ที่เปี่ยมด้วยจิตวิญญาณแห่งปกาเกอญออยู่ในทุกอนูของร่างกายนั้นเอง
และแทบไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก เขาคุ้นชินกับการทำไร่หมุนเวียนมาตั้งแต่เกิด เพียงมองไปยังผืนดินตรงหน้าก็รู้ทันทีว่าควรทำอะไร เขาเริ่มจับจอบและลงมือขุดดิน หว่านเมล็ดข้าวลงไป จากนั้นจึงแซมด้วยการปลูกผัก เขาสนุกกับการได้เฝ้ามองพืชพรรณค่อย ๆ เติบโต กลายเป็นอาหารอันอุดมสมบูรณ์ในไร่หมุนเวียนของตัวเอง มันคือชีวิตในหุบเขาซึ่งเขาหลงรักมาตลอด “ผมปลูกข้าวไว้กิน แต่พืชผักที่ปลูกได้ก็จะเอาไปขายด้วย” บี้กล่าว
หลังจากพืชผักเจริญเติบโต แหล่งอาหารก็เกิดขึ้นเพื่อหล่อเลี้ยงปากท้องให้อิ่มหนําสําราญ และยังสามารถแบ่งพืชผักไปขายตามท้องตลาด สร้างเงินให้ได้อีกทาง บี้จึงพอมีเงินจับจ่ายใช้สอยอยู่บ้าง แม้จะไม่มาก แต่ก็ไม่ถึงขั้นขัดสนแต่อย่างใด
แต่ข้อเสียของการทำเกษตรกรรมหมุนเวียนตามธรรมชาติ คือสามารถทำได้เพียงปีละครั้ง แต่บี้ต้องใช้เงินตลอดปี เขาจึงคิดอยากเปิดร้านขายของชำเล็ก ๆ ในหมู่บ้าน เพื่อจะได้เป็นแหล่งสร้างเงินแก่เขาได้อีกทาง ซึ่งตอนนี้ กำลังอยู่ในช่วงของการออกแบบหน้าร้านอยู่
จิตวิญญาณของการเป็นนักกิจกรรมยังคงหมุนเวียนอยู่ในหัวใจของบี้ เมื่อเริ่มตั้งหลักในการใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดได้พอสมควรแล้ว บี้จึงไม่ลืมที่จะทำเพื่อชุมชนที่เขารัก อย่างที่เขาเคยทำมาตลอด
“ผมกำลังทำโปรเจคที่ชื่อ ‘เมา , เล่า , สืบ , สาน’ ร่วมกันกับอาสาคืนถิ่น…เป็นโปรเจคที่จะทำกับเยาวชนในหมู่บ้านของผมเอง” บี้ชี้แจง เขาได้อธิบายต่อไปอีกว่า ‘เมา , เล่า , สืบ , สาน’ ยังมีความหมายแอบแฝงอยู่ดังนี้
เมา หมายถึง เมามัน หลงใหลกับวัฒนธรรมอันดีงามของชาวกะเหรี่ยง ที่เขาจะหาพื้นที่กลางให้ทุกคนได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันได้อย่างสนุกสนาน
เล่า หมายถึง การบอกเล่า วิถีชีวิตหรือเรื่องราวระหว่างการจักสานกระเป๋ากะเหรี่ยง (ไนกะปิ๊) เพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ที่ดีงามต่อกันและกัน
สืบ หมายถึง การสืบทอดเทคนิคการจักสานไนกะปิ๊จากผู้เฒ่าผู้รู้ ในชุมชน
สาน หมายถึง การสานต่อของเยาวชนในชุมชน เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อเทคนิคการจักสาน อันเปรียบได้กับภูมิปัญญาที่ลำค่าของบรรพพบุรุษ ไม่ให้สูญหายไป
บี้ยังเล่าต่ออีกว่า สาเหตุที่ต้องเป็นไนกะปิ๊ หรือกระเป๋ากะเหรี่ยงนั้น เป็นเพราะเขาได้สังเกตเห็นว่าการทอผ้า ยังคงมีในหมู่เยาวชนหญิงในชุมชน แต่ในหมู่เยาวชนชายรุ่นหลังมานี้ กลับไม่ค่อยมีใครลงมือจักสานไนกะปิ๊กันอีกแล้ว บี้กลัวว่าสักวันภูมิปัญญาเกี่ยวกับการจักสานที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษจะสูญหายไป เขาจึงก่อตั้งโปรเจคนี้ขึ้นมา
สุดท้ายนี้ บี้ไม่ได้คาดหวังว่าโครงการที่ทำจะไปได้ไกลแค่ไหน ขอเพียงแค่มีเยาวชนสักคนมองเห็นคุณค่าของการจักสาน และไม่หลงลืมภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ เท่านั้นก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว เหมือนอย่างที่บี้กล่าวไว้ว่า “เมื่ออยู่บ้าน เราควรทำอะไรให้บ้านเกิดบ้าง แค่นั้นก็พอแล้ว”
ผู้เขียน : ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
ศุภชัย เสมาคีรีกุล
อาสาคืนถิ่นรุ่น 6 จังหวัดตาก