มนต์เสน่ห์ ณ บ้านเกิด (ที่กำลังเลือนหายไป)
ลำน้ำตัดผ่านภูเขาน้อยใหญ่ไหลเวียนไปตามกระแสชีวิตของตัวมันเอง สองข้างริมฝั่งถูกระบายไปด้วยสีเขียวจากธรรมชาติ บ้างก็อยู่อย่างอิสระไร้การรบกวนใด ๆ จากภายนอก บ้างก็มีสีสันจากวิถีชีวิตของผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์เข้ามาแต่งแต้ม ในที่แห่งนี้มีหมู่บ้านเล็ก ๆ ของชาวปกาเกอะญอตั้งอยู่ อบอวลไปด้วยกลิ่นอายวิถีชีวิตวัฒนธรรมท้องถิ่น และด้วยเป็นหมู่บ้านยังถูกโอบล้อมด้วยความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติเช่นนี้ ผู้คนจากภายนอกจึงแวะเวียนผลัดเปลี่ยนมาเยี่ยมเยือนไม่ซ้ำหน้า “ตุ๊กตู่” จึงเติบโตมาอย่างคุ้นเคยกับนักท่องเที่ยวทั้งที่เป็นคนไทยและที่เป็นคนต่างชาติ
บ้านท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นที่ที่ตุ๊กตู่เกิดและเติบโต เป็นสถานที่ที่เธอเรียกว่า “บ้าน” ตั้งแต่เล็กจนโตตุ๊กตู่คลุกคลีอยู่กับการเข้าออกของนักท่องเที่ยวในชุมชน ย่ำรุ่งยามไร้แสงตะวัน ณ ขณะที่สายหมอกกำลังโอบกอดหมู่บ้านก็เห็นพ่อตื่นจากห้วงความหลับไหล ล้างหน้าล้างตา เตรียมถ่อแพพานักท่องเที่ยวล่องลอยไปกับสายน้ำ หลุดหายไปท่ามกลางหุบเขา จากบ้านที่ท่าตอนไปไกลจนถึงเมืองเชียงราย และตัวเธอเองก็มีประสบการณ์พูดคุยและพานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินป่าอยู่บ่อยครั้ง การสื่อสารภาษาอังกฤษของเธอจึงลื่นไหลเป็นไปอย่างธรรมชาติ
ด้วยว่าอาศัยอยู่ในชุมชนมาตั้งแต่ยังเล็กจนตอนนี้อายุครบ 30 ปี ตุ๊กตู่จึงเห็นการเปลี่ยนแปลงได้มาก ดังที่เล่าให้เราฟังว่า “วิถีชีวิตในปัจจุบัน เช่นการทอผ้า การจักรสาน หรือการล่องแพ สิ่งพวกนี้มันกำลังหายไปเยอะ เราอยากให้มันกลับคืนมา” ตามทัศนะของตุ๊กตู่ ชุมชนของตนนับเป็นสถานที่ที่ต้องมนต์เสน่ห์ และทรัพยากรที่มีอยู่น่าจะเพียงพอต่อการพัฒนาให้ชุมชนแห่งนี้สามารถพึ่งพาตัวเองและเป็นที่รู้จักสู่โลกภายนอกมากยิ่งขึ้น
แผนการของพระเจ้า
“พระเจ้าอาจจะมีแผนให้เรากลับมาอยู่บ้าน”
ก่อนหน้านี้ตุ๊กตู่มีโอกาสออกไปเรียนและทำงานข้างนอกอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ปีที่เป็นเหตุให้เธอต้องกลับบ้านนั้นเป็นปีที่รุนแรงเพราะเจอทั้งเรื่องที่พาให้เสียเงินจำนวนมาก ทั้งเรื่องอุบัติเหตุของพ่อและแม่ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาห่างกันไม่นาน ราวกับเป็นแผนของพระเจ้าที่ทำให้เธอกลับมาอยู่ ณ บ้านเกิดเพื่อดูแลครอบครัว
แต่กลับมาแล้วในช่วงแรก ๆ ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะอยู่รอดด้วยวิธีใด ที่ทำได้ก็มีเพียงปลูกผัก ทำสวน รับจ้างทั่วไป จนกระทั่งตั้งท้องลูกสาวเธอจึงหันกลับมาหาอาชีพหลักของครอบครัวอีกครั้ง โดยเริ่มต้นจากการพานักท่องเที่ยวเดินป่าใกล้บ้าน
ตุ๊กตู่ยังเล่าอีกว่า “สมัยเรียนอยู่มัธยมต้นเคยตั้งปนิธานไว้เลยว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวในครอบครัวตัวเอง จะไม่ทำท่องเที่ยวเด็ดขาดเพราะไม่เข้ากับพ่อ ทัศนคติไม่เหมือนกัน การทำงานไม่เหมือนกัน แต่สุดท้ายชีวิตเรามันก็ไม่พ้นเรื่องพวกนี้”
ทุกวันนี้ตุ๊กตู่เป็นผู้ดูแลจัดการการรองรับนักท่องเที่ยว จัดหาที่พัก homestay ไม้ไผ่ในพื้นที่บ้านของเธอที่มีมากว่า 10 ปี ดูแลระบบระเบียบธุรกิจเล็ก ๆ ของครอบครัวให้ดีกว่าที่เคยเป็นอยู่ และนี่อาจถือเป็นเพียงเหตุการณ์ประจวบเหมาะหรืออาจเป็นแผนการของพระเจ้าอีกอย่างหนึ่ง
หญิงสาวผู้แบกรับก้อนหิน ปลูกมันลงในดินจนเติบโตกลายเป็นดอกไม้
หลังกลับบ้านมาพักใหญ่จนเริ่มหาสิ่งที่มีคุณค่าต่อตนเองได้พบ นั่นคือส่งเสริมอาชีพการท่องเที่ยวในชุมชน ทว่าคำครหาและหมิ่นแคลนมากมายกลับถาโถมมาที่หญิงสาวปกาเกอะญอคนนี้ เป็นต้นว่า หน้าอย่างนี้จบปริญญาตรีด้วยหรือ หน้าอย่างนี้พูดภาษาอังกฤษเป็นด้วยหรือ ทั้งที่นอกจากจัดการการท่องเที่ยวภายในครอบครัวแล้ว เธอยังหาเวลามาช่วยเหลืองานชุมชนอย่างไม่หวังว่าจะได้รับอะไรตอบแทนนอกเสียจากการพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นบ้าง แต่ไม่แคล้วที่จะโดนดูถูกอยู่เสมอ
มากไปกว่านั้นเธอยังต้องแบกรับภาระทางครอบครัวทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และด้านจิตใจเอาไว้อย่างโดดเดี่ยว ดังที่ตุ๊กตู่บอกว่า “ตอนนี้ถ้าหมายถึงปัจจุบัน ครอบครัวไม่ได้ซัพพอร์ตอะไรเลย เรานี่แหละไปซัพพอร์ตครอบครัว ไม่มีใครซัพพอร์ตพี่ได้ เราจะคุยกับพ่อแม่ไม่ได้เลย คุยกับคนใกล้ ๆ ก็ไม่ได้”
หลายครั้งที่สิ่งบั่นทอนจิตใจเหล่านี้ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเธอเองนั้นเลือนลางจนไม่มีแม้แต่ใครที่จะมองเห็นหรือให้คุณค่าความมีอยู่ของตัวเธอ แต่หากเชื่อในแผนของพระเจ้าแล้ว สิ่งเหล่านี้ย่อมไม่ใช่ก้อนหินที่หนักอึ้งจนถ่วงเธอให้อยู่กับที่ได้ แต่เป็นเพียงบทเรียนที่เข้ามาแล้ววันหนึ่งก็จะผ่านไปโดยทิ้งร่องรอยความเข้มแข็งไว้ทีละเล็กทีละน้อย
ผู้หญิงก็สร้างสังคมได้
What doesn’t kill you makes you stronger!
เมื่อผ่านจุดที่ยากลำบากจากการกลายมาเป็นแก่นแกนดูแลรับผิดชอบครอบครัว ทั้งพ่อ แม่ สามี และลูกสาว จวบจนวันนี้เธอเข้มแข็งขึ้นมาได้มากแล้ว ประโยคข้างต้นก็คงจะไม่ผิดไปจากคำอธิบายความเป็นตัวตนของตุ๊กตู่เท่าไรนัก “อะไรที่ฆ่าเธอไม่ตายจะยิ่งทำให้เธอแข้งแกร่งขึ้น”
Idol ของตุ๊กตู่ไม่ใช่ดารา นักร้อง นักธุรกิจหรืออื่นใด หากแต่เป็นแม่หลวง ผู้นำผู้หญิงในหมู่บ้านใกล้เคียงที่สามารถพัฒนาชุมชนของตัวเองด้วยการเขียนโครงการขอทุนได้กว่าสิบโครงการภายในอายุสี่สิบกว่าปี ตุ๊กตู่จึงหวังว่าวันใดวันหนึ่งตนจะสามารถพัฒนาชุมชนตัวเองได้ถึงขนาดนั้นบ้าง
และเท่าที่ทำความรู้จักกับชุมชนตัวเองมาเป็นเวลาหลายปี ตุ๊กตู่เห็นว่า “ชุมชนที่นี่มุ่งหวังแค่เรื่องเกษตรกรรม ซึ่งมันไม่พอ เราอยากให้เขาทำท่องเที่ยวหรือว่ามีโปรดักควบคู่กัน เหมือนเราเดินทางสายกลาง อย่าไปทำแค่สิ่งเดียว อยากให้ทำหลาย ๆ อย่างควบคู่กันไป แล้วก็อยากให้ชุมชนเป็นคอมมิวนิตี้มากขึ้น ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่แบบทุกวันนี้”
เพราะเธอเห็นว่าการท่องเที่ยวที่ทำเฉพาะในครอบครัวของเธอ ก็จะมีแต่เพียงครอบครัวเธอที่ได้รับผลประโยชน์จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยว ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยหากสามารถเชิญชวนชาวบ้านมาร่วมมีภาพฝันไปด้วยกัน กระจายรายได้ภายในชุมชนได้อย่างเท่าเทียม จนวันหนึ่งชุมชนแห่งนี้จะกลายเป็นที่รู้จักและพึ่งพาตัวเองได้อย่างมีสำนึกร่วม
ผู้เขียน : สุดารัตน์ เหมศิริรัตน์
อรภา นะยัว
อาสาคืนถิ่นรุ่น 6 จังหวัดเชียงใหม่