จุดเริ่มต้นการกลับบ้านของ “เฮฟาอ์”

การได้มีครอบครัวที่คอยสนับสนุนและไม่กดดันให้เร่งรัดประสบความสำเร็จในชีวิตมากนัก นับเป็นต้นทุนสำคัญแก่การ “กลับบ้าน” เพื่อทำตามความฝันของ “เฮฟาอ์ สะไร” หญิงสาววัย 24 ปี ผู้รักและเป็นที่รักของครอบครัว คู่คิด รวมถึงชีวิตน้อย ๆ ที่กำลังจะเกิดในโลกนี้

“เฮฟาอ์” มุ่งมั่นในระบบการศึกษาเพื่อกลั่นเอาความรู้ที่ได้กลับมาสร้างอาชีพที่บ้านเกิด อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ที่ใคร ๆ ต่างก็ทึกทักเอาว่าเป็นพื้นที่แห่งความรุนแรง

ความรัก ความฝัน และพระเจ้า
คำนิยามฉบับสั้นและกระชับแด่หญิงสาวผู้นี้

สวนทางกับหนุ่มสาวที่หนีห่างจากชุมชน

ต้นยางเรียงรายล้อคู่ไปกับถนนที่มุ่งหน้าเข้าสู่ชุมชน สวนทางกับราคาผลผลิตที่ได้เพียงกิโลละไม่กี่บาท ขณะเดียวกันภายในชุมชนยังไม่ได้มีอาชีพอื่น ๆ ที่สามารถรองรับความต้องการได้ เหล่านี้เป็นเหตุที่ผลักให้กลุ่มคนรุ่นใหม่เข้าไปหางานทำในเมือง เช่นนี้แล้วเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันกับเฮฟาอ์ในชุมชนจึงเหลืออยู่น้อยนิด ที่อายุไล่เลี่ยกันและเป็นแรงสนับสนุนหัวใจได้ดีก็เห็นจะมีแต่เพียง “มูอา” สามีของเฮฟาอ์ผู้ร่วมแชร์ความคิด ความฝัน และความรักไปด้วยกัน

“พวกรุ่นเดียวกันมีไม่กี่คนนี่แหละ ส่วนใหญ่จะไปทำงานกรุงเทพ ที่นี่มันเป็นแบบนั้นด้วย มันต้องมีงานทำ เป็นงานประจำ เขาถึงจะคิดว่านั่นเป็นงานนะ แต่เราที่อยู่บ้านทำนู่นทำนี่ไม่ได้หยุดเขาก็มองว่ายังไม่ได้ทำงาน ของคนที่นี่คือต้องออกจากบ้าน 8 โมงเช้า กลับ 4 โมงเย็น แต่ก็แบบนี้หมดทุกที่แหละ บรรทัดฐานสังคม ต้องมีเงินเดือน”

แม้ครอบครัวจะสามารถสนับสนุนเฮฟาอ์ในทางเศรษฐกิจได้อยู่ไม่น้อย แต่เธอกับสามีก็มิได้เรียกร้องและใช้ทางลัดนี้เพื่อเดินไปสู่เส้นทางแห่งความฝัน ในแต่ละวันมูอาใช้แรงและเวลาไปในสวนยางและสวนปาล์มเพื่อหารายได้ไว้ใช้เป็นทุนด้วยความพยายามจากพวกเขาเอง

มูอายังพูดถึงเหตุที่ถูกท้าทายเมื่อกลับมาอยู่บ้านว่า “มันเป็นระบบการศึกษาที่ไม่ได้สอนให้สร้างงาน อาจารย์แต่ละคนก็สอนให้ไปหางาน ไม่ได้ถามว่ากูจะไปเปิดโรงงานมั้ย กูอาจจะไปเปิดโรงงานก็ได้ แต่เขาสอนให้ไปหางาน หานายทุน”

หันหลังให้กับการเป็นฟันเฟืองในระบบ

เฮฟาอ์วางแผนจะกลับบ้านหลังเรียนจบด้วยเสียงที่บอกว่าเหตุใดต้องเรียนสูง ๆ เพื่อไปพัฒนาที่อื่นที่ไม่ใช่บ้านเรา ส่วนมูอาก็ไม่อยากเข้าไปเป็นฟันเฟืองตัวหนึ่งในระบบงานที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ แม้จะเสี่ยงอยู่บ้าง ทว่า เขาทั้งสองคนยังคงมีความกล้าที่จะฝัน และตัดสินใจร่วมกันต่อการเดินทางกลับสู่บ้านด้วยความหวัง มิใช่ด้วยความล้มเหลว

“ถ้ามันลำบากจริง ๆ ก็ไปหางานประจำทำ ตอนนี้ยังอิ่มท้องได้ ข้าวสาร ไข่เจียวก็ยังอยู่ได้ และก็มีบ้าน ที่ไม่ต้องเช่า ทำไรได้ก็ทำไปก่อน เสี่ยงไปก่อน ถ้ามันประสบความสำเร็จก็โอเค ถ้ามันไม่ประสบความสำเร็จก็ทำใหม่ ทำอย่างอื่นต่อ” เฮฟาอ์กล่าว

มูอาให้ความเห็นเพิ่มว่าเหตุใดในชุมชนจึงมีแต่การทำอาชีพสวนยางแม้จะมีราคาต่ำและไม่สามารถควบคุมได้เลย “ชาวบ้านเองไม่กล้าทำอะไรที่มันใหม่ ๆ เพราะว่าต้องใช้ทุน ถ้าใช้ทุนทำแล้วไม่สำเร็จเขาก็เจ็บหนัก เราก็เจ็บหนักเหมือนกัน แต่เรายังหนุ่มยังอะไรอยู่ ถ้าทำอะไรไม่ได้ก็ไปหางาน ถ้าที่สุดแล้วทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จจริง ๆ ก็ไปหางานเอาก็ได้ แต่ชาวบ้านเขายังมีภาระด้านหลัง ไหนลูก ไหนอะไร เขาก็ไม่กล้าเสี่ยง”

แพะต้นน้ำกับความฝันยามกลับบ้าน

เสียงร้องของอังเดรและเบลล่าสะท้อนก้องอยู่กลางสวนปาล์ม ซึ่งมิใช่เสียงเด็กน้อยที่กำลังร้องงอแงแต่อย่างใด หากเป็นเสียงของแพะที่กำลังถูกปล่อยออกจากโรงเรือนเล็ก ๆ โดยเฮฟาอ์และมูอา

“แพะ” ในศาสนาอิสลาม เป็นต้นว่าการถูกนำไปใช้เป็นอากีเกาะฮ์ เมื่อใดที่มีการคลอดลูกผู้ชายต้องใช้แพะ 2 ตัว ลูกผู้หญิง 1 ตัว แพะจึงถือเป็นตลาดศาสนาขนาดใหญ่ แต่พี่น้องมุสลิมที่อยู่สามจังหวัดกลับต้องนำเข้าแพะจากภาคอีสานเสียเป็นส่วนใหญ่ ที่มีอยู่ในพื้นที่ก็เพียงรับมาและขายต่อ ไม่ได้มีการเพาะพันธุ์ทำเป็นระบบภายในพื้นที่ ผนวกกับเฮฟาอ์เรียนจบสัตวศาสตร์ เมื่อมองถึงความยั่งยืนและอาชีพใหม่ ๆ ที่นอกเหนือไปจากกรีดยางและแทงปาล์ม การมีฟาร์มแพะที่เป็นต้นน้ำในพื้นที่จึงกลายมาเป็นความฝันของเขาทั้งสอง

“มันเป็นความฝันว่าอยากจะมีฟาร์มแพะที่เป็นต้นน้ำ ที่ไม่ใช่แค่เอามาขายต่อ ส่วนมากเขาจะบอกว่าเลี้ยงทำไม ทำไมไม่ซื้อมาขายไป มันได้ราคาดีกว่า ได้กำไรดีกว่า ได้เร็วกว่า เราก็ว่าใช่ ถ้าระยะสั้น ๆ มันแบบนั้นจริง ๆ และส่วนใหญ่คนบริโภคแพะเยอะ แต่ว่าแหล่งผลิตจริง ๆ มันอยู่แถวภาคอีสาน ภาคกลาง ซึ่งตลาดของเขาก็คือสามจังหวัด แต่เราที่อยู่สามจังหวัดยังไม่เห็นมีใครทำที่มันเป็นระบบจริง ๆ ซึ่งความฝันก็คืออยากจะทำอันนี้แหละ”

ที่ยังไม่มีฟาร์มแพะอย่างเป็นเรื่องเป็นราวในพื้นที่ก็ด้วยขั้นตอนที่มากมาย รายละเอียดที่ต้องการความปราณีตควบคู่กันไป กว่าจะให้ผลตอบแทนก็เป็นเวลาเนิ่นนาน การเลี้ยงแพะของเฮฟาอ์และมูอาจึงถูกตั้งแง่อยู่ไม่น้อย เมื่อโดนคนอื่นตั้งคำถามว่าทำไปทำไมซ้ำแล้วซ้ำเล่า จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะรับเอาคำถามนั้นมาสงสัยในตัวเอง และแม้จะมีภาวะหมดไฟอยู่บ้าง แต่เฮฟาอ์และมูอาก็เติมพลังด้วยการออกไปเจอเพื่อนนอกชุมชนที่มีความคิดฝันคล้ายกัน เพื่อให้รู้ว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวในห้วงอารมณ์และประสบการณ์เช่นนี้

ฉีกกรอบอาชีพรองรับการกลับบ้าน

ตั้งแต่เลือกเรียนเกษตร เฮฟาอ์ก็โดนตั้งคำถามแล้วว่าเรียนไปทำไม ในเมื่อการทำเกษตรมันสามารถทำตามวิถีเดิมที่เขาทำกันมาก็ได้ แต่ก็ยังอยากพิสูจน์ให้เห็นว่าความรู้ทางด้านเกษตรมันมีอะไรที่มากไปกว่า การทำตามกันไปรุ่นต่อรุ่น ทั้งด้านวิชาการและวิชาชีวิต ปัญหาการตายอย่างง่ายดายของแพะในพื้นที่โดยไม่รู้ว่าเหตุไฉนแพะถึงตายได้ง่ายเสียอย่างนี้ เฮฟาอ์จึงอยากนำเอาวิชาของเธอมาสะท้อนให้เห็นปัญหาและทางแก้เหล่านี้

ความฝันว่าอยากจะมีฟาร์มแพะที่เป็นต้นน้ำ สู่พื้นที่ในชุมชนที่เป็นปลายน้ำ ให้ชาวบ้านได้เข้าถึงแพะที่มีราคาถูก เมื่อไปถึงจุดนั้นได้ในสักวัน เพียงกำลังของเฮฟาอ์และมูอาย่อมไม่พอ ท้ายที่สุดพื้นที่นี้จะต้องเกิดการจ้างงาน ซึ่งเป็นภาพฝันที่ใหญ่ไปกว่าการมีฟาร์มแพะของเขาสองคนอีกด้วย

“ภาพฝันคือเกิดอาชีพใหม่ ๆ ในชุมชน เพราะมีแม่เป็นตัวอย่าง แกทำเย็บผ้าแล้วเกิดการจ้างงานในชุมชน ลูกจ้างได้มีงานเสริม สามารถผ่อนรถผ่อนอะไรได้ เราก็เลยอยากจะสร้างอาชีพที่เกิดการจ้างงานในชุมชน ให้เขามีงานเสริมได้เหมือนกัน แล้วก็เป็นแบบอย่างให้เขาสามารถเข้ามาเอาความรู้จากเราไปได้ เป็นตัวอย่าง นั่นแหละที่อยากจะเห็น”

แม้ตอนนี้จะมีปัญหาเรื่องเงินทุนที่ทำให้ยังไม่สามารถสร้างระบบอะไรในฟาร์มได้อย่างสมบูรณ์ แต่ในระหว่างหนทางเส้นนี้ เฮฟาอ์และมูอากำลังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อลองผิดลองถูก ทั้งเรื่องราวของชีวิตและการมีความฝันในวัยหนุ่มสาว

ผู้เขียน : สุดารัตน์ เหมศิริรัตน์

เฮฟาอ์ เฮฟาอ์ สะไร
อาสาคืนถิ่นรุ่น 6 จังหวัดนราธิวาส