“เอ้ ธีร์กฤติ ชำนาญจิตร” ในวัย 35 ปี กลับสู่ชุมชนบ้านเกิดอีกครั้งด้วยความอ้างว้างหลังใช้ชีวิตห่างจากบ้านมาเป็นเวลากว่า 10 ปี จิตวิญญาณถูกกลืนกลายไปตามซอกความสัมพันธ์ในคอนกรีตมหานคร และเมื่อวันที่การกลับบ้านช่วยเติมเต็มความเป็นตัวตนไปพร้อมกับคำตอบของคำถามเรื่องคุณค่าของชีวิต เอ้จึงหันกลับมาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างตนกับคนรอบข้างจนนำไปสู่การความตั้งใจที่จะดูแลและรักชุมชนแห่งนี้
จิตวิญญาณที่สิ้นสลายท่ามกลางป่าคอนกรีตในเมืองหลวง
บรรยากาศขมุกขมัวในยามเช้าอนุญาตให้เรามองเห็นตึกรามบ้านช่องเป็นเพียงเงาสีเทาทึมทึบ เบื้องหน้าถนนหนทางมีรถราแล่นผ่าน พัดพาผู้คนแล้วผู้คนเล่าไปพร้อมกับมัน มนุษย์ปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าเฉพาะทางดวงตา เนื่องด้วยทั้งเมืองในคราวนั้นถูกปกคลุมโดยฝุ่นละอองขนาดเล็ก
ไม่นานนักโรคที่กำเนิดจากประเทศจีนก็เริ่มแพร่ระบาด ท้าทายการเอาตัวรอดของมนุษย์ กระทั่งกลายเป็นภาวะวิกฤตไปทั่วโลก โรงพยาบาลในเมืองหลวงของไทยท่วมท้นล้นเกินไปด้วยผู้ป่วยทางเดินหายใจ หน้ากากอนามัยเริ่มหายากขึ้นทุกวัน ราคาข้าวของแพงขึ้นทุกวันเพื่อตอกย้ำความลำบากของประชาชนในภาวะเช่นนี้ ดังนั้นคำว่า “ชีวิตดีดีที่ลงตัว” ในกรุงเทพมหานครอาจไม่รับใช้คนตัวเล็กตัวน้อยในเมืองแห่งนี้อีกแล้ว หลายคนจึงเลือกที่จะละทิ้งป่าคอนกรีตและกลับไปตั้งต้นใหม่อีกครั้งที่บ้านต่างจังหวัด เช่นเดียวกับ “เอ้ ธีร์กฤติ ชำนาญจิตร”
“ตอนนั้นงานล่าสุดคือการบริหารคอนโด แล้วทุกอาทิตย์มันจะมีลูกบ้านในคอนโดติดโควิด ดังนั้นทุกครั้งที่มีคนใกล้เคียงติดเชื้อ เราก็จะต้องสวอปทุกครั้ง มันเลยรู้สึกว่ามันเหนื่อยเกินไปแล้ว อีกอย่างหนึ่งด้านครอบครัว พอมันเกิดวิกฤตเราเลยคิดว่าเราน่าจะกลับมาซัพพอร์ตที่บ้าน ก็เลยตัดสินใจกลับมาเลย”
ครอบครัวสนับสนุนให้เอ้เข้ามาเรียนในกรุงเทพตั้งแต่มหาวิทยาลัย ในระหว่างนั้นก็เก็บสะสมเรื่องราวการใช้ชีวิตมาเรื่อย ๆ แต่ขณะเดียวกันเมื่อเติบโตขึ้นจนล่วงเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ ผู้คน หน้าที่การงาน และสถานที่แห่งนี้กลับค่อย ๆ บ่อนเซาะจิตใจไปพร้อมกับร่างกาย แม้บ้านที่ต่างจังหวัดจะเป็นที่ที่เกิดและจากมา ทว่าการกลับไปในช่วงเวลาที่ตัวตนแปรเปลี่ยนไปแล้วจึงถือเป็นจุดพลิกผันสำคัญในชีวิต
เมื่อความสัมพันธ์แบบกรุงเทพไม่ตอบโจทย์กับความเป็นชุมชน
ชุมชนแห่งหนึ่งในอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อหลายสิบปีที่แล้วเคยฉายภาพคนในท้องที่ไปมาหาสู่และใช้เวลาส่วนมากร่วมกันในแต่ละวัน รอบข้างเต็มไปด้วยต้นไม้ใบหญ้านำเสนอความอุดมสมบูรณ์ ลูกเด็กเล็กแดงบ้านไหนก็เป็นที่รู้จัก กระทั่งความเป็นเมืองได้เข้ามาทุบทำลายรูปแบบความสัมพันธ์เมื่อครั้งก่อน
หลังออกจากบ้านไป 10 กว่าปี การกลับมาครั้งนี้ไม่มีใครจำเอ้ได้ว่าเป็นลูกหลานบ้านไหน ขณะที่เอ้เองก็ไม่ได้อยากทำความรู้จักใครเพิ่มเพราะเคยชินกับการอยู่ในความสัมพันธ์แบบกรุงเทพ ต่างคนต่างใช้ชีวิตและอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง ดังนั้นการกลับบ้านมาในช่วงแรก ๆ เอ้มีเพียงการออกกำลังกายเป็นงานอดิเรกและมีต้นไม้เป็นเพื่อนคลายเหงาในแต่ละวันจนกลายมาเป็นธุรกิจเล็ก ๆ เช่นนั้นแล้ววันนี้ พรุ่งนี้ และวันถัด ๆ ไปของเอ้อาจดำเนินไปในแบบเดียวกัน หากเพียงแต่เอ้ไม่ได้เริ่มตั้งคำถามถึงคุณค่าของชีวิตและพยายามค้นหาสิ่งที่สามารถเข้ามาเติมเต็มจิตวิญญาณ
กระทั่งวันที่โควิดระบาดจนผู้คนไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เอ้เริ่มหันกลับมาทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและคนในชุมชน
“วันหนึ่งที่โควิดระบาดหนัก เราจะออกไปตลาดนัดไม่ได้ ออกบูธ ขายต้นไม้ไม่ได้ ชุมชนเขาก็เริ่มเห็น ก็เริ่มเข้ามาซื้อ เข้ามาถาม แต่ราคาที่เขาจะซื้อได้ก็คือต้นละ 20-30 บาทนั่นแหละ ซึ่งต้นไม้เราเริ่มที่ 300 บาท แต่มันมีการพูดคุยและการรับรู้ เขาไม่ต้องซื้อก็ได้แต่เหมือนเขามาช่วยเหลือ จุนเจือ แล้วตั้งแต่วันนั้นพี่ก็บอกตัวเองว่าถ้าวันหนึ่งฉันทำอะไรให้กับชุมชนได้ฉันจะทำเพราะมันเป็นการช่วยเหลือกัน ถ้าตอนนั้นคนในชุมชนไม่ช่วย ร้านต้นไม้พี่ก็อาจจะไปต่อไม่ได้”
การกลับมามองเห็นและเติมเต็มปัญหาครอบครัวแหว่งกลาง
มากกว่าครึ่งหนึ่งของคนในชุมชนล้วนเป็นผู้สูงอายุ ลูกหลานที่เติบโตพอจะดูแลตัวเองได้ต่างก็แยกย้ายกันเข้าไปทำงานในเมือง ที่เหลือไว้ก็เพียงเด็กน้อยตาใสให้ได้เลี้ยงดู ร่ายกายที่กร่อนไปตามกาลเวลาก็เริ่มออกอาการกลายเป็นปัญหาสุขภาพร่วมกันของคนแก่ มีเหตุจำเป็นให้เข้าออกโรงพยาบาลเฉกเช่นบ้านหลังที่ 2 อยู่เสมอ แต่การจะเดินทางไปโรงพยาบาลโดยรถประจำทางก็ต้องนั่งรถตู้ ต่อวินมอเตอร์ไซค์ ต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงมือหมอ แต่การเดินทางเช่นนี้ได้พรากพลังกายในแต่ละครั้งไปไม่น้อย
สิ่งที่เอ้พอจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือในเรื่องนี้ได้บ้างก็คือพาคนแก่ที่มีปัญหาสุขภาพนั่งรถยนต์ของเขาไปหาหมอด้วยกันในแต่ละเดือน เพราะเอ้เป็นหนึ่งในกลุ่มคนวัยทำงานเพียงไม่กี่คนที่กลับมาอยู่บ้านในชุมชนแห่งนี้
“เราช่วยเหลือญาติเพราะว่าเขาไม่มีคน สมมติเขาต้องไปหาหมอในเมือง ประจำจังหวัด ถ้าชีวิตปกติของเขาเขาก็ต้องนั่งรถกว่าจะไปถึงหมอได้ใช้ความลำบากเยอะ ดังนั้นพอพี่อยู่ เขาเห็นว่าพี่มีรถ เขาก็ให้เราไปส่ง ก็ได้ค่าขนมนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ถ้าถามว่าคุ้มมั้ย ก็ไม่ถ้าคิดเรื่องน้ำมัน เขามีงบเท่าไหร่เราก็สามารถไปส่งได้ มันก็เป็นจุดเริ่มต้น พอมีคนที่ 1 คนที่ 2 เห็น 3 เห็น 4 เห็น เขาก็มาถามว่าวันนี้ว่างไหมให้ไปส่งหน่อย เผลอ ๆ เดือนนี้พี่ก็จะมีตารางแล้วว่าวันนี้ใครไปหาหมอบ้าง ก็พาไป”
ที่สะท้อนให้เอ้เห็นว่าชุมชนแห่งนี้ขาดแคลนคนรุ่นราวคราวเดียวกันมาคอยสนับสนุนผู้สูงอายุ อย่างเช่นการจ่ายค่าไฟ โดยเอ้เล่าว่า “การจ่ายค่าไฟ บางทีเขาไม่ได้มีอินเตอร์เน็ตจ่ายอย่างเราในแต่ละบ้าน ต้องไปจ่ายที่อำเภอ แล้วการเดินทางไปอำเภอจะต้องเสียค่าใช้จ่ายอีก ปกติค่าไฟเขา 200 บาท ค่าเดินทาง 100 แล้ววันหนึ่งได้เงิน 300 บาท มันจะเหลืออะไร เราจะเห็นความแตกต่างของสังคมระหว่างที่นี่กับที่กรุงเทพเยอะ”
ตัวตน และความหมายใหม่ของชีวิต
นอกเหนือไปจากการมีบทบาทพาผู้สูงอายุไปหาหมอในแต่ละเดือนแล้ว เอ้ยังใช้วิชาความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจากที่ได้ร่ำเรียนมาเมื่อปริญญาตรี ผนวกกับประสบการณ์การออกกำลังกายมาเป็นเวลานานของตัวเอง เข้ามานำผู้สูงอายุออกกำลังกายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะเชื่อว่าการกลับมามีสุขภาพที่ดีอีกครั้งไม่ได้เกิดจากการหาหมอและกินยากระทั่งหายป่วย แต่ต้องเกิดจากการดูแลรักษาร่างกายเพื่อเป็นการป้องกันอาการป่วยอื่น ๆ ที่จะตามมาภายหลังควบคู่กันไปด้วย
เมื่อมองย้อนกลับไป คนรอบข้างไม่มีใครจำเอ้ในวัยผู้ใหญ่ได้เมื่อวันแรกที่กลับมาสู่ชุมชน แต่ปัจจุบันนี้ไม่มีใครในชุมชนที่จะไม่รู้จักเอ้อีกแล้ว ทั้งความนอบน้อมและจิตใจที่อยากช่วยเหลือทำให้จิตวิญญาณที่แตกสลายยามอยู่กรุงเทพ เริ่มกลับมาคงรูปคงร่างและมีคุณค่าความหมายใหม่อีกครั้ง
“ภาพฝันของพี่ก็แค่ว่า ให้ชุมชนมันเหมือนตอนที่เรายังเป็นเด็กที่เวลาเดินไปไหนก็เจอหน้าทักทายกันได้ เพราะว่าวันที่เราสามารถพูดคุยกันได้ เวลาที่มันเกิดวิกฤตอะไรก็แล้วแต่มันสามารถช่วยเหลือกันได้จริง ๆ มันเป็นสังคมเกื้อหนุนกันอยู่ อันนั้นก็เป็นภาพเล็ก ๆ ที่เราเคยเห็นแล้วแหละ แต่เราอยากให้มันกลับมาเป็นเหมือนเดิม”
ผู้เขียน : สุดารัตน์ เหมศิริรัตน์