จุดเริ่มต้นการกลับบ้านของ “ฟิวส์”
“ฟิวส์ พีรศิลป์ ชนะมาร” ชายหนุ่มวัย 25 ปี ผู้ผ่านประสบการณ์การทำงานในระบบมามาก กระทั่งวันหนึ่งได้ลุกขึ้นมาตั้งคำถามถึงการถูกทำให้เป็นเครื่องจักรซึ่งมีวัฏจักรการทำงานในรูปแบบเดิม ๆ ร่างกายยังทรุดโทรมลงเรื่อย ๆ ด้วยต้องโหมทำงานจนไม่สามารถเรียกได้ว่าสิ่งที่เป็นอยู่นี้คือชีวิตที่มนุษย์สมควรจะมี จึงตัดสินใจกลับบ้านเพื่อชีวิตที่เป็นอิสระจากพันธะแรงงานในภาคอุตสาหกรรม
ถูกหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักร
จ่อมจมอยู่กับเสียงเสียดสีของเหล็กที่เร่งการผลิตตามระบบที่ถูกวางเอาไว้ มีปฏิสัมพันธ์ในแต่ละวันไปกับการมองดูสิ่งไร้ซึ่งชีวิตผ่านมาและผ่านไปบนสายพาน คอยมีบทแสดงเมื่อยามกลไกเหล่านั้นติดขัด กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็ถูกหลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องจักรแล้ว ร่างกายทรุดโทรมลงด้วยถูกเฆี่ยนตีจากโมงยามแห่งการทำงาน จากเคยเป็นนายคอยควบคุมความเป็นไปของเครื่องจักร บัดนี้เขากลายเป็นผู้รับใช้เครื่องจักรเสียเอง
เสียงในหัวล่องลอยผ่านความคิดเข้าถามหาเหตุผล ไฉนการทำงานในระบบจึงลดทอนความเป็นมนุษย์ได้ถึงเพียงนี้ เราขายตัวเองดั่งสินค้าเพื่อให้ผู้มีส่วนรับผิดชอบในโครงสร้างเห็นข้อดีของเรา
“คนเราจบมาเหมือนเป็นเครื่องจักร เขาดูเกรดเรา ดูคุณภาพของเรา เราเป็นสินค้าที่จะขายให้เขา ถ้าพูดดีก็ขายสินค้าได้ ขายตัวเอง ขายแรง ทำให้เราคิดได้ว่าเราเกิดมามีรายได้เดือนนึงแค่หมื่นกว่าบาทเองหรอ ทั้งชีวิตหาเงินได้แค่นี้ คุณภาพชีวิตมีแค่นี้เหรอ”
สิ่งที่ฟิวส์เห็นควรจะต้องทำในตอนนี้คือลาออกจากสภาพแวดล้อมแห่งความแปลกแยก และนำพาตัวเองกลับบ้าน บ้านที่หวังว่าจะมีพื้นที่สำหรับความเป็นมนุษย์ และเป็นที่ที่ตนจะเป็นอิสระได้
มุ่งหน้าสู่บ้านเกิด ปฏิเสธการเป็นเครื่องจักร
กลับมายังพื้นที่ที่คุ้นเคย โอบล้อมไปด้วยบรรยากาศสวนยางและผู้หลักผู้ใหญ่ที่รู้จัก แต่ก็ยังต้องพบกับคำถามพื้นฐานเฉกเช่น “เรียนมาแล้วทำไมไม่ไปหางาน” กับคนใกล้ชิดเองแรก ๆ ก็ยังไม่เห็นด้วย เพราะในพื้นที่ไม่มีงานอะไรมารองรับคนที่เรียนจบสูง ๆ ได้อย่างมั่นคงได้ มีเพียงการกรีดยางซึ่งให้รายได้เพียงน้อยนิด และวันใดหากฝนฟ้าไม่เป็นใจ วันนั้นเป็นต้องขาดรายได้กันเกือบทั้งชุมชน
“ช่วงแรกก็อย่างว่า เขาไม่ค่อยเห็นด้วย ก็ทำไงได้ถ้ามัวแต่กังวลผมก็ต้องไปลำบาก อดหลับอดนอน ผมต้องทำงาน ผมต้องทำโอที โดยที่ผมไม่เต็มใจ ช่วงนั้นเหมือนโดดเดี่ยวไปเลย ทำงาน 7 โมงเช้า ออก 7 โมงเช้าของอีกวันนึง คือกลางวันเราก็ต้องหาเวลานอนอีก ชีวิตเราไปอยู่กับแต่สิ่งนั้น เราไม่รับรู้โลกภายนอก ใครจะแต่งงาน ใครจะบวช ผมก็ไม่ได้ไปร่วม แม้แต่งานศพญาติ มันไม่ใช่ชีวิต ผมไม่ได้เกิดมาเป็นเครื่องจักรให้เขา”
คงเป็นที่น่าแปลกประหลาดสำหรับคนในชุมชนไม่น้อยที่ชายหนุ่มวัย 25 ปี จะกลับมาอยู่บ้านเกิดของตัวเอง ด้วยว่าคนรุ่นราวคราวเดียวกันส่วนใหญ่ต่างแยกย้ายกันไปทำงานข้างนอก บ้างก็จับอาชีพอยู่ที่ภูเก็ต บ้างก็พลัดถิ่นเข้าไปยังกรุงเทพมหานคร
ทำงานกับสิ่งมีชีวิตที่เติบโตและเจริญงอกงามไปพร้อมกัน
แม้จะกลับเข้ามาอยู่ในชุมชนแล้ว แต่ในช่วงแรกยังไม่มั่นใจเรื่องรายได้ ฟิวส์จึงเข้าไปทำงานในอู่แห่งหนึ่งไม่ห่างไกลจากบ้านเท่าไรนัก จึงพอมีเวลาหลังเลิกงานและช่วงเช้าหลังตื่นนอนจัดให้เป็นเวลาของการทำเกษตร ทว่ายังต้องพบกับปัญหาจากการทำงานในระบบรูปแบบคล้าย ๆ ของเดิม
“พอกลับมาแล้วก็มีเขามาชวนไปทำงานอู่ ผมเลยทำเกษตรไปด้วยทำอู่ไปด้วย มันก็คว้าน้ำเหลว มันไม่ดีสักทาง มันเสียเวลา ไม่ได้พักไม่ได้ผ่อน เข้างานแปดโมงเช้า กลับบ้านก็ 6 โมงเย็นแล้ว”
หลังออกจากงานอู่มาก็เริ่มทำเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ ไม่เพียงแต่กรีดยาง แต่ยังหาพืชผักอื่น ๆ มาปลูกเพื่อเป็นรายได้เสริม พริกบ้าง ถั่วฝักยาวหน่อย ให้พอได้สลับขายและมีรายได้ไปในแต่ละวัน
ฟิวส์กำลังอยู่ในช่วงเริ่มสร้างอาชีพภายในชุมชนบ้านเกิดให้ตัวเอง เพื่อวันใดวันหนึ่งมีครอบครัวเป็นของตน ก็หวังว่าอาชีพที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ตอนนี้จะสามารถเป็นแหล่งรายได้หาเลี้ยงลูกและเมียได้ ขณะที่การวางตัวเป็นหัวหน้าครอบครัวก็ไม่จำเป็นต้องพรากจากพวกเขาเข้าไปทำงานในเมืองเพื่อส่งเงินกลับมาให้ใช้ ที่สุดแล้วฟิวส์วาดฝันไว้ว่างานภาคการเกษตรตรงนี้จะเป็นความหวังอันดับต้น ๆ ในช่วงการค้นหาตัวเองระหว่างที่ยังครอบครองความเป็นหนุ่มนี้ไว้
ผู้เขียน : สุดารัตน์ เหมศิริรัตน์