ผู้เขียน: ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
“การมีเพื่อนร่วมทางไปพร้อมกัน มันช่วยให้รู้สึกดีมากเลย”
รอยยิ้มแห่งความสุขแสดงออกมาเด่นชัด ผ่านใบหน้าอันแสนชื่นมื่นของเหล่าจอมยุทธ์ “อาสาคืนถิ่นรุ่น 7” ทั้ง 31 คน ที่เดินทางมาจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อพบกันอีกครั้งภายใต้บรรยากาศอบอุ่นของกิจกรรม “Module 2 วาระเสริมพลังกลุ่มอาสาคืนถิ่นรุ่น 7 ปฏิบัติการเสริมเครื่องมือการทำงานร่วมกับชุมชน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพลเมืองอาสาสมัครขับเคลื่อนสังคมสุขภาวะ มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม ระหว่างวันที่ 7-11 มีนาคม 2567 ณ ชุมชนบ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี
แต่สิ่งที่ทำให้การพบกันในครั้งนี้พิเศษมากขึ้นไปอีก คือการได้รู้จักกลุ่ม “จุ้มบ้านเชียง” เพื่อนผู้คืนถิ่นในชุมชนบ้านเชียง บนพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวยาวนานมากกว่า 5,000 ปี ดังนั้นทุกซอกทุกมุมของที่นี่จึงเต็มไปด้วยกลิ่นอายแห่งความหวัง และความฝันที่ส่งต่อกันมารุ่นสู่รุ่น
นอกจากกลุ่มจุ้มบ้านเชียงแล้ว ยังมีกลุ่ม “สกลเฮ็ด” นำโดย “พี่ยิป” ยิปซี จันทร์เพ็งเพ็ญ หัวหน้ากองโจรสนิมมาร่วมแจม เพื่อเกาะเกี่ยวและร้อยเรียงความคิด ความฝัน แด่เพื่อนคืนถิ่นให้มีไฟฝันที่เข้มแข็งมากขึ้นกว่าเดิม
Module 2 จึงไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมเพื่อติดอาวุธในการทำงานร่วมกันกับชุมชนของอาสาคืนถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้เพื่อนได้พบกับเพื่อน ดังนั้นการได้พบกันในครั้งนี้จึงมีความหมายต่ออาสาทุกคน มันสะท้อนออกมาชัดเจน จากคำพูดของอาสาคืนถิ่นท่านหนึ่งว่า
“เราพบว่าชุมชนบ้านเชียงเป็นแหล่งงานคราฟท์ยุคแรก ๆ ของประเทศไทย และยิ่งรู้ว่าที่นี่มีคนรุ่นใหม่กลับบ้านเหมือนกับเรา มันทำให้รู้ว่าเราไม่ได้เดินอย่างเดียวดาย”
แม้จะอัดแน่นไปด้วยกิจกรรมแสนหฤโหดตั้งแต่วันแรก อาสาคืนถิ่นต้องเดินทางไกลนับพันกิโลเมตร จากเหนือสุดและใต้สุดของประเทศ มีความเหนื่อยล้ากัดกินร่างกาย แต่เพราะมีจุดมุ่งหมายและมีความฝันเดียวกันอยู่ที่ “โฮมสเตย์บ้านเชียง” แม้จะต้องเหนื่อยหนัก แต่กลับเป็นความเหนื่อยที่เต็มเปี่ยมด้วยความสุข และอบอุ่นอยู่ภายใน
“อบอุ่น” คงเป็นคำพูดที่ผู้ร่วมกิจกรรมใช้ได้เปลืองมากที่สุด แต่ความอบอุ่นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากขาดคำว่า “ความสุข”
เพราะทันทีที่ก้าวเท้ามาถึงก็ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่น จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชนบ้านเชียงทุกคน ตั้งแต่การกล่าวต้อนรับโดย นายประวิทธิ์ คำขุรี (นายกเทศบาลตำบลบ้านเชียง) คุณกนกวลี สุริยะธรรม (ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง) ไปจนถึงกิจกรรมพาแลง “ฮอดบ้านเชียง” มีการผูกข้อต่อแขนจากผู้อาวุโสในชุมชน มีการร้องร่ำทำเพลงแบบไทพวน ซึ่งสะกดทุกสายตาให้หลงในความงามอันตระการตาของวัฒนธรรมอีสานที่หาดูได้ยากยิ่ง
ยิ่งได้ลงสำรวจชุมชนบ้านเชียง ได้เห็นรากเหง้าความเป็นมาของชุมชน ตั้งแต่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติบ้านเชียง สถานีบ้านเก่า สถานีผ้าย้อมคราม สถานีปั้นหม้อวาดสี ทำให้เห็นร่องรอยแห่งอารยธรรมที่แข็งแกร่ง สะท้อนผ่านมุมมองของอาสาคืนถิ่นให้แจ่มชัด
ตลอดทั้ง 4-5 วันของกิจกรรม ผู้เข้าร่วมทุกท่านมีบทบาทสำคัญในการร่วมกันวิเคราะห์ถึง 3 ประเด็นหลักเกี่ยวกับการคืนถิ่น คือ
- เราจะอยู่รอดได้อย่างไร
- เราจะอยู่ร่วมได้อย่างไร
- เราจะมีคุณค่าต่อตัวเองและชุมชนได้อย่างไร
คนรุ่นใหม่กลับบ้านทุกท่านต่างสะท้อนออกมาในทำนองเดียวกันว่า “การกลับบ้านไม่ง่าย มันยาก และยากมาก ๆ” ทั้งที่พวกเขามีสิทธิอยู่บ้าน แต่ด้วยปัจจัยภายนอกต่าง ๆ เช่น ความคาดหวังของครอบครัว บริบทชุมชน สภาพเศรษฐกิจ ตลอดจนค่านิยมในชุมชน จึงทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยที่เลือกกลับบ้านเกิด ไม่อาจที่จะใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นมากนัก
นิยามของการมาจุ้มกันในครั้งนี้จึงเป็นคำว่า “มิตรภาพ” เพราะทุกคนล้วนประสบพบเจอปัญหาที่คล้ายกัน คือการต้องเอาตัวรอดในบ้านเกิดให้ได้
อีกทั้งช่วงแรกของการคืนถิ่นทำให้รู้สึกว้าเหว่เปลี่ยวใจกันมาก เนื่องด้วยต้องต่อสู้กับปัญหาและอุปสรรคเพียงลำพัง อาจทำให้รู้สึกท้อแท้ละเหี่ยใจได้ไม่ยาก เมื่อมีเพื่อนที่มีความคิดความฝันที่คล้ายกันมาร่วมรับฟัง แม้จะมาจากต่างที่ต่างถิ่น แต่มิตรภาพอันลึกซึ้งได้ก่อเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะอย่างน้อยก็มีเพื่อนที่เข้าอกเข้าใจกันอยู่
การได้เติมเชื้อไฟให้กันในครั้งนี้ เชื่อเหลือเกินว่าอาสาคืนถิ่นทุกคน จะสามารถเติมพลังให้ตัวเอง เพื่ออยู่รอดและอยู่ร่วมในชุมชนของตัวเองต่อไปได้ แม้จะไม่มากก็ตาม
“เบียร์” สุภกฤต กาแก้วมิตะมาน หนึ่งในสมาชิกกลุ่มจุ้มบ้านเชียงอธิบายว่า “จุ้ม” เป็นภาษาอีสานแปลว่า ชุม,วงศ์วาน, ผู้ที่เกิดจากเชื้อสายเดียวกัน แต่ในอีกความหมายหนึ่งก็แปลว่า การรวมกลุ่ม หรือการอยู่ในที่เดียวกันเยอะ ๆ
เบียร์ได้เปิดเผยอีกว่า การมาเยี่ยมเยียนของอาสาคืนถิ่นครั้งนี้ ในฐานะเจ้าบ้าน เขารู้สึกเป็นกังวลกลัวจะตอนรับทุกคนไม่ดี และยังฉุกคิดขึ้นได้ว่า ชุมชนของเขาพร้อมจะเป็นเจ้าบ้านมากแค่ไหน เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมา บ้านเชียงค่อนข้างเงียบเหงา แม้จะอุดมไปด้วยทรัพยากรด้านต่าง ๆ ที่ครบถ้วน แต่ก็เกิดขึ้นจากคนรุ่นก่อนได้สร้างไว้ ซึ่งยังขาดคนรุ่นหลังสืบต่อหรือช่วยพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปได้
จึงแทบไม่น่าเชื่อว่าชุมชนที่เคยครึกครื้นและมีชื่ออยู่ในหนังสือเรียนอย่างชุมชนบ้านเชียง ทุกวันนี้กลับซบเซาลงไปมาก ในฐานะลูกหลานคนหนึ่งของบ้านเชียง เบียร์อดรู้สึกเศร้าสลดใจไม่ได้
เบียร์จึงมีความฝันอยาก “รีโนเวด” บ้านเชียงให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง โดยการสร้างกลุ่มจุ้มบ้านเชียงขึ้น เพื่อรวบรวมคนรุ่นใหม่กลับบ้านในพื้นที่ให้มาร่วมกันแต่งแต้มสีสันในชุมชนให้กลับมางดงามสุกใสอีกครั้งหนึ่ง เปรียบเสมือนการมาจุ้มกันให้บ้านเชียงมีชีวิตด้วยน้ำมือของคนรุ่นใหม่ผู้มีความหวัง ความฝัน มิตรภาพ และแรงบันดาลใจร่วมกัน
ประจวบเหมาะกับการมาเยือนของเหล่าจอมยุทธ์อาสาคืนถิ่น ที่มีความคิดความฝันในการอยู่รอดและอยู่ร่วมในชุมชนคล้าย ๆ กัน เบียร์จึงรู้สึกสุขใจอย่างบอกไม่ถูก
เนื่องจากทุกคนมี “จุดรวม” ในการกลับบ้านเหมือนกันแล้ว มันได้กลายเป็นภาษาเพื่อนซึ่งส่งผลให้เกิดความสนิทสนมกันอย่างรวดเร็วเสมือนรู้จักกันมานานนับ 10 ปี
การร่วมกลุ่มกันในครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนการได้จุ้มกันในหมู่เพื่อน เพื่อเติมพลังให้แก่กัน ช่วยเหลือกัน และเกื้อหนุนกันให้เกิดอะไรบางอย่างขึ้น และกะเทาะจุดแข็ง จุดอ่อน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดการ “อยู่รอด” และ “อยู่ร่วม” ในพื้นที่ของตัวเองให้ได้มากที่สุด
“การมาจุ้มกัน” นอกจากจะมีคุณค่าสำหรับการเรียนรู้ชุมชนร่วมกันแล้ว ยังได้รับ “พลังบวก” จากเจ้าบ้านและผู้มาเยือน ที่พูดภาษาเดียวกัน ให้ได้รับแรงบันดาลใจอันสูงส่งที่ช่วยให้ตัวเองกระปรี้กระเปร่าอย่างมีชีวิตชีวา เพื่อกลับไปพัฒนาชุมชนของตนเองอีกครั้งหนึ่งได้อย่างน่าประหลาด
ความอบอุ่น ความสุข และมิตรภาพที่ได้รับจึงทรงคุณค่าต่อจิตใจของเพื่อนคืนถิ่นทุกคน เสมือนประหนึ่งภาพฝันที่อยากเห็นตัวเองและชุมชนพัฒนาไปสู่จุดที่ดีกว่า
หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม เราจึงได้เห็นรอยยิ้มเปื้อนสุข สะท้อนผ่านดวงตาของผู้เข้าร่วม อันจะสามารถกล่าวได้ว่า เพื่อนคืนถิ่นทุกท่านได้ค้นพบตัวโน้ตแห่งความหวัง บนเสียงเพลงแห่งมิตรภาพ ที่คละคลุ้งอยู่ในห้วงความรู้สึกอิ่มเอิบ หลังผ่านเรื่องราวมากมายจากการคืนถิ่น
สุดท้ายนี้แม้จะต้องอำลากัน เพราะงานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา แต่มิตรภาพยังคงอยู่ น้ำใจยังคงเห็น ความทรงจำยังงดงามตรึงอยู่ในใจของเพื่อนทุกคน แม้จะต้องจากลากันไป แต่การมาจุ้มกันในครั้งนี้ จะไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน
“ชุมชนบ้านเชียง จุ้มบ้านเชียง จะคอยเป็นบ้านอีกหนึ่งหลัง ที่รอให้เพื่อน ๆ หรือใครก็แล้วแต่ที่อยากจะลอง หรือกลับมาที่บ้านหลังนี้ บ้านหลังนี้เปิดหน้าต่าง เปิดประตูรอทุก ๆ คนเสมอ ถ้ามีโอกาส ทางจุ้มบ้านเชียง จะขอไปเยี่ยมบ้านของเพื่อน ๆ ทุก ๆ คน ในทุกพื้นที่นะครับ” เบียร์กล่าว