“คนรุ่นใหม่กลับบ้าน” ในวันที่เงินไม่ใช่คำตอบของทุกสิ่ง

กระแสคนรุ่นใหม่กลับบ้านเริ่มกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง…

เมื่อวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา ค่ายสารคดีครั้งที่ 17 ร่วมนำพาน้อง ๆ นักเขียน ช่างภาพ และวิดีโอครีเอเตอร์ ลงพื้นที่ ‘บ้านห้วยหินดำ’ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ รวมถึงหลักการทำงานในฐานะนักสื่อสารรุ่นใหม่ ผู้สร้างสรรค์สื่อที่มีประโยชน์ต่อสังคมต่อไป

ค่ายสารคดี ดำเนินการโดยนิตยสารคดี มีจุดประสงค์เพื่อผลิตนักสื่อสารรุ่นใหม่ออกสู่สังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งดำเนินการมาแล้วมากกว่า 17 ปี  สามารถผลิตเยาวชนจำนวนมากเข้าสู่เส้นทางนักสื่อสารที่ดีในสังคมได้เสมอมา

หนึ่งในเป้าหมายหลักของการลงพื้นที่ครั้งนี้ คือการเข้าถึงแนวคิดของ ‘คนรุ่นใหม่กลับบ้าน’ ผู้เลือกทิ้งความมั่นคงทางการเงิน กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด เขาคนนั้นคือ ‘มะขาม’ สุกฤษฎิ์ ครีทอง อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดสุพรรณบุรี

มะขามกลับมาอยู่บ้านตั้งแต่ปี 61 เพราะปัญหาสุขภาพร่างกาย จากการตรากตรำทำงานหนักนานนับปี ขณะทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราว ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขามองขึ้นไปยังดอยสุเทพ เห็นยอดเขาเขียวขจีแน่นิ่งอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายของเมืองใหญ่ ทำให้รู้สึกสงบข้างในใจอย่างฉับพลัน วินาทีนั้นเขาคิดถึงบ้านเกิดที่สุพรรณขึ้นมาทันที

ก่อนหน้านั้น มะขามมีแนวคิดอยากกลับบ้านอยู่ก่อนแล้ว วันนี้เมื่อรู้สึกว่าเส้นทางการทำงานในเมืองใหญ่ไม่ใช่แนวทางของตนเองอีกต่อไป จึงเลือกกลับบ้านอย่างไม่ลังเล

เขากลับมาอยู่บ้านด้วยความว่างเปล่า ไม่มีอะไรในหัว ไม่มีแผนรองรับว่าจะใช้ชีวิตให้รอดได้อย่างไร รู้เพียงอย่างเดียวคืออยากอยู่บ้านเท่านั้น แต่มันไม่อาจเพียงพอสำหรับโลกยุคปัจจุบัน ที่เต็มไปด้วยรายจ่ายมากมาย เขาจึงคิดหาทางออกอยู่นาน ก่อนลงเอยที่การเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งเป็นโปรเจคการเรียนรู้ของน้องชาย แต่ด้วยเหตุผลบางประการทำให้โปรเจคเดินต่อไม่ได้ อีกจะทิ้งไปก็เสียดาย มะขามจึงเลือกรับหน้าที่ดูแลไก่ไข่ต่อไป

เมื่อเวลาผ่านไปได้สักระยะหนึ่ง มะขามจึงเริ่มมีรายได้จากการขายไข่ไก่ แม้จะได้ไม่มาก แต่ก็มากพอให้ยังชีพอยู่รอดในบ้านได้อย่างไม่ลำบาก

และเนื่องจากมีคุณพ่อ คุณแม่ เป็นอาสานักพัฒนาชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านห้วยหินดำอยู่ก่อนแล้ว มะขามจึงมีโอกาสได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘อาสาคืนถิ่นรุ่นที่ 5’ เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา

โครงการอาสาคืนถิ่น จัดตั้งโดยมูนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม เป็นเครือข่ายของคนรุ่นใหม่ ที่สนับสนุนให้เกิดแรงบันดาลใจในการหวนคืนสู่บ้านเกิด มีเป้าหมายหลัก คือการได้เห็นคนรุ่นใหม่เข้าถึงคุณค่าของชุมชน และกลับบ้านอย่างมีประสิทธิภาพ

การได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอาสาคืนถิ่น ทำให้มะขามมีเป้าหมายของการกลับบ้านที่ชัดเจน เขาจึงสร้างโปรเจค ‘คืนกล้าสู่ป่าใหญ่ ณ บ้านห้วยหินดำ’ เป็นโปรเจคเกี่ยวกับการเพาะและขยายพันธุ์กล้าไม้พื้นถิ่น แล้วนำกลับไปปลูกในป่าชุมชนอีกครั้ง นอกจากนี้ยังศึกษาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งเรื่องของพืชและสัตว์ รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อนำมาสานต่อ ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนให้ได้มากที่สุด

การกลับบ้านของมะขาม จึงไม่ใช่เรื่องของการอยู่รอดเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงการอยู่ร่วมกับคนในชุมชนอย่างมีคุณค่าอีกด้วย

กระทั้งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มะขามมีโอกาสได้ตอนรับคณะนักสื่อสาร จากค่ายสารคดีครั้งที่ 17 ที่มีทั้ง นักเขียน ช่างภาพ และวิดีโอครีเอเตอร์ กว่า 80 ชีวิต ลงพื้นที่ ‘บ้านห้วยหินดำ’ และสนใจประเด็นการกลับบ้านของมะขามอย่างจริงจัง ทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นเป็นอย่างมาก เพราะไม่คิดว่าการกลับบ้านของตนจะได้รับความสนใจจากนักสื่อสารรุ่นใหม่มากถึงขนาดนี้

การลงพื้นที่ของค่ายสารคดี ช่วยให้ได้รู้ว่า นอกจากมะขามแล้ว ยังมีคนรุ่นใหม่กลับบ้านคนอื่น ๆ อีก อาทิเช่น ‘นกเอี้ยง’ จารุวรรณ เมืองแก่น เจ้าของแบรนด์กาแฟ ‘มาอยู่ดอย’ หรือ ‘มื่อจะ’ ลัดดาวัลย์ ปัญญา และ ‘หน่อย’ อำพร ปัญญา ที่สานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นในเรื่องของการทอผ้ากี่เอวจากสีธรรมชาติ รวมถึงคนอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงอีกไม่น้อยในชุมชนบ้านห้วยหินดำ จ.สุพรรณ

ซึ่งประเด็นการกลับบ้านของคนรุ่นใหม่ เป็นที่สนใจของนักสื่อสารในค่ายอย่างมาก จนถูกจับมาเป็นหนึ่งในประเด็นของการรังสรรค์ผลงาน ไม่ว่างานเขียน งานภาพ และงานวิดีโอครีเอเตอร์ โดยเฉพาะเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่เลือกกลับมาอยู่บ้าน เพราะต้องการสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างให้ชุมชนดีขึ้น พวกเขาไม่ได้มองในเรื่องของเงินเป็นหลัก แต่เป็นเรื่องของคุณค่า กับความสุขในชีวิตของตนเสียมากกว่า

แต่จงอย่าลืมว่า การกลับบ้านไม่ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากเราทุกคนล้วนมีต้นทุนในการอยู่บ้านต่างกัน และยังมีคนรุ่นใหม่อีกมาก ที่ต้องต่อสู้กับตัวเอง และคนรอบข้างอย่างหนัก เพียงเพื่อต้องการมีชีวิตรอดในบ้านเกิดให้ได้ สิ่งนี้คือความจริง ที่คนกลับบ้านต้องพิสูจน์ตัวเองต่อไป

กระนั้น มะขาม และคนรุ่นใหม่กลับบ้านในชุมชนบ้านห้วยหินดำคนอื่น ๆ ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า สามารถอยู่รอดในชุมชุมได้อย่างไร พวกเขาสร้างคุณค่าให้ตัวเอง และชุมชนบ้านเกิดได้อย่างดี แต่ก็ต้องต่อสู้กับอย่างสิ่งหลายอย่างด้วยเช่นกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ คนที่ไม่เข้าใจว่าการกลับบ้านไม่ใช่ความล้มเหลว แต่เป็นตัวเลือกอย่างหนึ่งของชีวิตต่างหาก

เรื่อง: ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
ภาพ: ศุภาวี จุลบุตร เเละณัฐวรีย์ ฐิตวัฒนะสกุล