การที่เราได้เจอกันในออนไลน์ มันไม่สามารถทำให้เรารู้จักกันได้ขนาดนั้น แต่อย่างหนึ่งที่มองเห็นขณะที่พี่ๆเพื่อนๆสะท้อนและแลกเปลี่ยนคือ เราไม่ได้ “อยู่ร่วม อยู่รอด” แค่ไหนชุมชนหมู่บ้าน แต่นิยามคำว่าอาสาคืนถิ่นที่ทุกคนให้มาคือชุมชนใหม่ที่พวกเรากำลังสร้างร่วมกัน ท่ามกลางความหลากหลายของประสบการณ์ ความรู้ ความถนัดและทักษะ มันคือสิ่งที่มันจะพาเราไปให้ถึงฟากฝั่งที่ตั้งใจได้ เราจะดึงทักษะของตัวเรา ดึงทักษะของเพื่อนที่มี ดึงทรัพยากรอื่นๆเชื่อมการทำงานของเราเข้าด้วยกัน เกิดความเกื้อหนุนกันอย่างไร ให้เกิดเป็นชุมชนใหม่ที่ทุกคนมีส่วนร่วม
อารียา ติวะสุระเดช
Mentor อาสาคืนถิ่น รุ่น 5 ภาคเหนือ
การ “อยู่รอด อยู่ร่วม” กับความเปลี่ยนแปลงบนสถานการณ์ที่ไม่ปกติ และตอนนี้กำลังจะเป็นสถานการณ์ใหม่ที่กำลังปกติ สิ่งหนึ่งที่สำคัญของเราคือการอยู่อย่างมีคุณค่าหรือการอยู่อย่างมีศักดิ์มีศรี และอยู่อย่างเสมอภาค สิ่งนี้คือหัวใจสำคัญที่บ่งบอกว่าเราจะอยู่ได้ในพื้นที่นั้นๆ มันคือคุณค่าที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เกิดขึ้นกับชุมชน ถึงแม้บางเรื่องเราจะมองเป็นเรื่องเล็กๆ หากเราให้ความสำคัญ สิ่งเหล่านี้อาจนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอะไรบางอย่างได้
พงศกร กาวิชัย
Mentor อาสาคืนถิ่น รุ่น 5 ภาคเหนือ
Life Project ของแต่ละคนมีเรื่องราว ถ้าเปรียบกับละครก็คงเป็นบทละครที่น่าสนใจ ทุกคนกำลังสร้างโครงการชีวิตที่มีลักษณะเฉพาะของชุมชนบนฐานทรัพยากรที่มี เราสามารถสร้างเรื่องราวของเราได้เอง ทำให้แตกต่างจากคนอื่นได้ ซึ่งมันน่าสนใจมากๆ บางทีเราก็ต้องทำในฐานทรัพยากรที่เรามีและจุดที่เรายืน ไม่ต้องคิดว่าจะผิดจะถูก เพียงค่อยๆค้นหาและสนุกในการเรียนรู้ไปเรื่อยๆ หากอะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำ ก็ต้องทำ… เราหนีมันไม่ได้หรอก
ดร.สุธาทิพย์ เกตุแก้ว
Mentor อาสาคืนถิ่น รุ่น 5
กระบวนการทำให้เราได้แลกเปลี่ยนได้เรียนรู้ร่วมกัน แต่ละคน “รู้ตัว รู้ชุมชน” ของตัวเอง “รู้ตัว” คือ ทุกคนรู้ว่าเรามีความคิดความเชื่ออะไร มีต้นทุนทุนอะไร มีศักยภาพอะไรบ้าง มีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร “รู้ชุมชน” ในช่วงที่วิเคราะห์ชุมชนทุกคนมองเห็นว่าชุมชนตัวเองเป็นยังไง เราจะเชื่อมกับใคร ทรัพยากรอะไร ทั้งภายในภายนอกเพื่อจะให้มีส่วนร่วมใน Life project ของเรา มองเห็นในการขับเคลื่อนทางจิตวิญญาณในความเป็นตัวตนของอาสาคืนถิ่น ทุกคนทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากตัวเราเอง
ลาวรรณ วิชัยเลิศ
Mentor อาสาคืนถิ่น รุ่น 5
หลายๆคนปรับตัวและให้ความสำคัญกับการผลิตอาหาร ปรับตัวกับผลกระทบต่อการใช้สารเคมีในภาคการเกษตร สถานการณ์ปัญหาเหล่านี้ทำให้ทุกคนเรียนรู้และเข้าถึงปัญหา ทุกคนมีกิจกรรมและกิจการในการตั้งรับ ปรับตัว สิ่งที่สำคัญหลายๆคนกำลังใช้ทักษะของตัวเองเพื่อเชื่อมโยงในการทำงานร่วมกับคนอื่นๆในชุมชน มองเห็นกลุ่มเป้าหมายของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ เยาวชน หรือกลุ่มอาชีพ นี่คือฐานที่เราจะนำไปคิดไปและออกแบบทำงานต่อ บางคนใช้ฐานของครบครอบครัวเพื่อเริ่มต้นการทำงาน นี่แหละคือต้นทุนของสิ่งที่เรามี ซึ่งโจทย์ต่อไปคือการทำให้เกิดความชัดเจนว่าเราจะไปทำงานกับใคร ขนาดไหน อย่างไร นี่คือจุดเริ่มต้นที่ดีในการ “อยู่รอด อยู่ร่วม” ในชุมชน
มาลี สุปันตี
Mentor อาสาคืนถิ่น รุ่น 5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สิ่งที่เราได้ยินจากเพื่อนๆทุกคน มันคือการออกแบบชีวิตตัวเอง ออกแบบชีวิตชุมชน มันไม่ใช่แค่กระบวนการเรียนรู้ภายใต้สถานการณ์ที่กำหนด หรือสถานการณ์ที่เรากำลังเจอ ข้อค้นพบคือทุกคนมีต้นทุนเยอะมาก ทั้งต้นทุนของความรู้ของตัวเอง ต้นทุนของชุมชนของทุกคน ซึ่งเป็นฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนการ “อยู่รอด อยู่ร่วม” และสิ่งหนึ่งที่ทุกคนพูดถึงคือ “ความสุข” ถ้าเราทำไปแล้วมีพลัง มีความสุข เราสามารถจัดสมดุลชีวิตตัวเอง ครอบครัว หรือชุมชนได้ นั่นคือสิ่งที่สำคัญ ตอนนี้สัมผัสได้ว่าเรากำลังเริ่มที่จะเป็นเครือข่ายเพื่อน เครือข่ายชีวิต กำลังออกแบบชีวิตที่เรียนรู้ไปพร้อมกัน
สุภาวดี เพชรรัตน์
Mentor อาสาคืนถิ่น รุ่น 5
ผู้อำนวยการมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
เราพบว่าปัญหาแต่ละชุมชนมีความหมาย มีปัญหาคล้ายๆกัน ยิ่งเจอสถานการณ์โควิดเข้าไปยิ่งหนักขึ้น และตอนนี้มันคือปัญหาร่วมของเราในสังคม เราเรียนรู้ถึงความเชื่อมโยงในชุมชนแล้ว เชื่อมโยงระบบทุนหรือนโยบาย ยิ่งทำให้เราได้เห็นภาพที่ลึกและกว้างขึ้น ว่าปัญหาสังคมของเรามีความซับซ้อนมากจริงๆ สิ่งสำคัญในการเรียนรู้คือต้องกลั่นออกมาเป็นผลึกของเรา เรามีภาพฝันของสังคมร่วมกัน ภาพฝันในทิศทางที่ “สุข อิสระ” ยิ่งทำให้เราจะไม่หลงทาง เราจะมีแกนที่ตั้งอยู่เสมอ เราจะหาทางออกได้จากทรัพยากรซึ่งกันและกันของเรา ถึงแม้ว่าเราจะอยู่ภายใต้ปัญหาใหญ่ที่เต็มไปด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดหรือนโยบายคลุมครอบที่มองไม่เห็นทาง แต่บางทีคำตอบอาจจะอยู่ที่พวกเราหรือคำตอบอาจเกิดขึ้นในชุมชนเล็กๆของเราก็ได้ มิติการเรียนรู้ของกระบวนการก็คืออีกหนึ่งชุมชนที่เราได้เรียนรู้ไปด้วยกัน มองอะไรใหม่ๆที่เพิ่มขึ้นใน Life Project ของแต่ละคนไปด้วยกัน Life Project ของเราก็เหมือนของพี่ๆเพื่อนๆ และของสังคมเรา ที่พร้อมส่งต่อมรดกให้คนรุ่นหลังต่อไป
กรรณิกา ควรขจร
Mentor อาสาคืนถิ่น รุ่น 5