คนที่มีความตั้งใจกลับไปช่วยงานที่บ้านเกิดของตัวเอง คนที่ยกบ้านหรือชุมชนตัวเองขึ้นมาจากความไม่ชอบธรรม คนที่ทำให้ชุมชนมีความพัฒนาขึ้น คนที่มีลักษณะไม่เห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเอง มี “บทบาท” ช่วยเหลือกิจกรรมในชุมชนเป็นตัวประสานงาน หรือตัวเชื่อมให้ชุมชนเกิดความรักสามัคคีและไม่ให้ชุมชนถูกเอาเปรียบ
หากเปลี่ยนคำว่า “อาสาคืนถิ่น” ในความหมายใหม่ ผมเปรียบเสมือนคำว่า “วัวจำตีน” เพราะอยากตอบกลับสุภาษิต “วัวลืมตีน” อีกอย่างด้วยกระแสทุนนิยมทำให้คนหนุ่มสาวที่เรียนจบต้องหางานทำ แม้ว่างานที่ทำอยู่จะไม่ชอบและมีความสุขที่ต้องจำนนทำ เพราะเพื่อให้มีงานทำที่ดูดีกว่างาน “ทำนาทำไร่” หรือการกลับไปอยู่บ้าน
“วัวจำตีน” จึงเป็นการบ่งบอกตัวเอง และการรู้ตัวว่าชุมชนที่จากมามีอะไรดี การอยู่บ้านตัวเองมันมีความสุขขนาดไหน
โก ชาติชาย กุศลมณีเลิศ
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดตาก
คนที่ออกไปเรียนหรือออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน แล้วตัดสินใจกลับมาอยู่บ้าน กลับมาสร้างอาชีพ โดยนำเอาสิ่งที่มีอยู่ภายในชุมชนมาต่อยอด แปรรูปให้เกิดเป็นเงินและรายได้ และที่สำคัญที่สุดคือชุมชนต้องได้รับผลประโยชน์จากสิ่งที่เราทำ และเราเองต้องมีจิตสาธารณะ ทำประโยชน์ให้กับชุมชนของตัวเอง พัฒนาชุมชนของตัวเองให้ไปในทางที่ถูกต้อง
ถ้าให้เปลี่ยนความหมายใหม่ของอาสาคืนถิ่น ก็อยากเปรียบเป็น “นกน้อยบินกลับรัง” เพราะเปรียบตัวเองเหมือนนกเสรี เหมือนนกที่บินออกไปจากอ้อมอกแม่ เพื่อไปเรียนรู้การใช้ชีวิตด้วยตัวเอง แล้วจากนั้นก็บินกลับมาพร้อมกับความแข็งแกร่ง
เจน จันทร์ฉาย ทาสุคนธ์
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดลำปาง
อาสาคืนถิ่นเหมือนพลังที่อยากกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนบ้านเกิด
ใช้ชีวิตร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน สนใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชุมชน สังคม โลก ในหลายมิติ เป็น Active Citizen คิดริเริ่มและลงมือทำ อาจจะเป็นการต่อยอดสิ่งเดิมหรือทดลองสิ่งใหม่ “คนรุ่นใหม่กลับบ้าน” ความหมายอาจจะชัดเจนกว่า ว่าเป็นคนรุ่นใหม่ในแง่อายุ และเป็นการกลับมาสู่ที่ที่เคยจากไป “บ้าน” อาจมีนัยที่เป็นที่อยู่อาศัย มีสมาชิกในครอบครัวมาเกี่ยวข้อง
เตอร์ อนุวัฒน์ พรหมมา
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดขอนแก่น
อาสาคืนถิ่นคืออาสากลับมาพัฒนาบ้านเกิด ต้องมีความพร้อม เข้าใจบริบทของชุมชน และจะต้องมีบทบาทในการประสานงานกลุ่มองค์กรณ์ในชุมชน
เปรียบในความหมายใหม่ว่า “อาสากลับมาพัฒนาบ้านเกิด” ต้องมีความอยากที่จะกลับมาพัฒนาชุมชน ยิ่งเคยทำงานกับชุมชนมาอยู่แล้ว ยิ่งมีความพร้อม เลยลองกลับมาพัฒนาให้มั่นคง ยั่งยืน
เจน วิลัย ไตรล้ำ
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดร้อยเอ็ด
การที่เรามีจิตอาสาทำเพื่อสังคมบ้านเกิด ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมบ้านเกิดไปในทางที่ดีขึ้น โดยต้องมีคุณลักษณะและบทบาทที่มีความเสียสละ มีความอดทน และมีสำนึกรักบ้านเกิดด้วยจิตใจบริสุทธิ์
ถ้าให้เปลี่ยนจากคำว่า “อาสาคืนถิ่น” ควรจะเป็นคำไหนที่จะอธิบายความเป็นตัวเองได้ชัดเจนที่สุด ขอใช้คำว่า “อาสาพัฒนาถิ่น” คืออาศัยประสบการณ์ไปเรียนรู้ที่อื่น กลับมามองพื้นที่ของตัวเองให้เกิดการพัฒนา ศึกษาปราชญ์ชาวบ้าน ชุมชนมันน่าอยู่ก็ควรต่อยอดให้มันดียิ่งขึ้น อารายธรรมเก่าแก่ ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านมันเป็นเสน่ห์ ดึงมาเป็นจุดเด่น ทำให้ทุกคนเห็นว่าการอยู่บ้านมันมีประโยชน์ การแปรรูปทำให้มันมีราคา เกิดรายได้ในชุมชน ทำศูนย์เรียนรู้ของตัวเอง เริ่มมีรายได้ มีคนสงสัยกลับมาอยู่บ้านทำสวน แล้วจะอยู่รอดได้อย่างไร? ก็ทำให้เห็นว่าอยู่รอดได้มีรายได้
ทอน ณัฐพงศ์ อินต๊ะริด
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดบุรีรัมย์
บุคคลที่อยากกลับมาพัฒนาชุมชนและบ้านเกิดของตนเอง ทำด้วยความเต็มใจโดยไม่หวังค่าตอบแทนใดๆ ลักษณะคือเป็นคนรุ่นใหม่ ไฟแรงที่มี passion
คำว่า “อาสาคืนถิ่น” ในความหมายใหม่ก็เหมือนคำว่า “กลับบ้านเรา รักรออยู่” เพราะพ่อกับแม่ชอบพูดเสมอว่า เรียนจบแล้วกลับมาอยู่บ้านเรานะลูก ไม่มีอะไรดีเท่ากับบ้านเราอีกแล้ว กลับมาเพื่อที่จะพัฒนาชุมชน ก่อนกลับมาต้องออกไปเรียน ออกไปหาประสบการณ์จากข้างนอก คงเห็นว่าไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าที่บ้าน ชุมชนมีทั้งข้อดี ข้อเสีย มีอะไรให้ทำมาก ถ้าเราเห็นจุดไหนที่สามารถนำมาต่อยอดได้ก็พัฒนาให้ดีขึ้น
ปอ ณัฐนันท์ แสนยะมูล
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดมหาสารคาม
การกลับถิ่นฐานของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างที่ต่างจากเดิม คุณลักษณะมั่นคงยืนหยัดกับสิ่งที่ฝัน กล้าที่จะเผชิญการถาโถมของชุมชน เมื่อพาชุมชนเปลี่ยนแปลง บทบาทสำคัญในการให้ความรู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องทำให้ทัศนคติเปลี่ยนหรือเอนเอียงไปในยุคใหม่ให้ได้ คือการโน้มน้าวให้เป็น
“อาสา” คือผู้เสียสละ เสียสละไปยังพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เหมือนอาสาที่ไปรบแนวหน้า ออกไปข้างหน้าเพื่อไปเผชิญอะไรบางอย่าง อาสาคืนถิ่นก็เผชิญเหมือนกัน แบกความกดดัน เหมือนคำว่า “คืนปัญญาสู่มาตุภูมิ” เอาปัญญากลับคืนสู่ชุมชน
บิ๊ก อภิเดช วงสีสังข์
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดขอนแก่น
ในความเข้าใจ คือ การนำความรู้ที่ตนเองมีกลับมาพัฒนาบ้านเกิดหรือชุมชนด้วยความสมัครใจ และจะต้องเป็นคนที่สามารถเข้ากับชุมชนได้ดี มีความอดทน ร่าเริงแจ่มใส ซึ่งบทบาทหน้าที่นั้น คือ การเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี รับฟังปัญหาของชุมชน มองเห็นข้อดีของชุมชน และสามารถพัฒนาชุมชนไปในทางที่ดี ทำให้ตนเองมีรายได้ ชุมชนมีรายได้ ได้อย่างยั่งยืน
สำหรับตัวเราเองแล้วคงไม่มีคำใดเหมาะกับคำว่า “บัณฑิตคืนถิ่น” อีกแล้ว เพราะมีความตั้งใจที่จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิดตั้งแต่เริ่มเรียนแล้ว
โซดา สุดา จ๋อมหล้า
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดน่าน
การกลับมายังบ้านเกิดที่ตนเองได้กำเนิด เพื่อพัฒนาชุมชนของตนเองให้สามารถดำรงชีวิตให้อยู่ร่วมกับสังคมปัจจุบันได้ รวมถึงการสร้างชื่อหรือแบรนด์ให้กับชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับตนเองและชุมชน
คุณลักษณ์ของบุคคลที่เป็นอาสาคืนถิ่น คือ รักบ้านเกิด รักวัฒนธรรม รักการพัฒนาและชอบเผยแพร่ (Sharing)
การเป็นอาสาคืนถิ่น ต้องเรียนรู้สิ่งที่มีอยู่ภายในชุมชน วิเคราะห์และนำมาพัฒนาและเผยแพร่ให้แก่คนรุ่นใหม่และภายนอกชุมชน
ในนิยามอาสาคืนถิ่นอยากกลับบ้าน ออกไปเรียนรู้ข้างนอก เหมือนหนังที่พระเอกออกไปทำงานนอกบ้าน แล้วมองเห็นว่าบางคนทันโลกก็ดีไม่ทันก็ดี แล้วอยากกลับมาพัฒนาบ้านตัวเอง พัฒนาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เปลี่ยนเป็น “อยากอยู่บ้าน” อยากสร้าง king dom
พะฉุ กิตติพันธ์ กอแก้ว
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดแม่ฮ่องสอน
คุณสมบัติของอาสาคืนถิ่นในความคิดนั้นต้องมีความรู้และความเข้าใจชุมชนในระดับหนึ่งถึงจะกลับมายังชุมชนได้ ยิ่งได้ไปศึกษาและพบเจอกับโลกภายนอก ยิ่งต้องมีความรู้และเข้าใจโลกมากกว่าคนในชุมชน นอกจากนี้ยังต้องมีความรักและเห็นคุณค่าของชุมชนที่ตนเองอาศัยอยู่ อันจะเป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาชุมชนในอนาคต สำหรับบทบาทนั้น ส่วนตัวมองว่า คือการมีส่วนร่วมกับชุมชนในทุกๆ กิจกรรมที่ตนเองมองว่ามีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของคนชุมชน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องสุขภาพ การประกอบอาชีพ หรือแม้แต่การศึกษา
นอกจากคำว่า “อาสาคืนถิ่น” คิดว่าคำที่อธิบายความเป็นตัวตนมากที่สุดจะเป็นคำว่า “ผู้รับใช้ด้วยใจ” เพราะอ้างอิงจากประสบการณ์ หรือสิ่งที่พบเจอมาตลอด 2-3 ปีที่กลับมายังบ้านเกิดที่ได้มีส่วนช่วยในการรักษาความสัมพันธ์ต่างๆ ทั้งภายในครอบครัวและชุมชน ทั้งยังเป็นแรงงานหลักของทั้งครอบครัวและชุมชนในการทำงานที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากจะทำ ซึ่งจริงๆ ถามว่ามีความสุขไหมที่ได้ทำ ก็ไม่ แต่ถ้าถามว่าทุกข์ไหม ก็ไม่เช่นกัน คือทำแล้วเฉยๆ ไม่ได้รู้สึกเป็นบุญคุณอะไร แค่ทำเพราะสถานการณ์มันบังคับ ทำเพราะหน้าที่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ทำด้วยใจ คือตั้งใจทำให้มันผ่านไปได้ด้วยดีและไม่ให้เสียชื่อ
มะขาม สุกฤษฎิ์ ศรีทอง
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดสุพรรณบุรี
อาสาคืนถิ่นในความคิดเห็นนั้นเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่ง 1 คน หรือ 2-3 คนขึ้นไปก็ได้ ที่มีความรักบริสุทธิ์และห่วงแทนศรัทธาชุมชนบ้านเกิดด้วยใจจริง ไม่รู้สึกเสียดายเวลาความรู้ที่มีในตนเองที่มอบให้แก่ชุมชน มีความเป็นมิตร จิตใจดี มีความอดทน รู้จักแข็งและงอไปตามสถานการณ์เพื่อพร้อมเชิญทุกกิจกรรม และคนในชุมชนที่มีความหลากหลายสิ่งสำคัญรับฟังให้มากกว่าพูด เปิดรับสิ่งที่ถูกต้องและไม่ถูกต้องในเวลาเดียวกัน เพราะบางทีถูกต้องแต่ก็ไม่ถูกใจ ฝึกปรับทัศนคติหรือมุมมองในชุมชนให้หลากหลาย และเข้าร่วมทุกกิจกรรมเท่าที่เราสามารถทำได้เพื่อทำให้เรามีตัวตนในชุมชนและถือเป็นการเรียนรู้สังคมแต่ละกลุ่มเพื่อเราสามารถนำปรับใช้กับการเป็นอาสาคืนถิ่นของเราต่อไป เหมือนกับคำว่า “ความหวังหมู่บ้าน”
อัง ปรารถนา ชัยรัตน์
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดเชียงใหม่
คนที่กลับไปใช้ชีวิตในชุมชนของตัวเอง โดยจะมีลักษณะเป็นคนที่มองเห็นปัญหาและอยากแก้ไข เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของชุมชนตัวเอง อาสาคืนถิ่นจะมีบทบาทในการถ่ายทอดองค์ความรู้ปัญหาต่างๆ ในชุมชนที่ตนมองเห็น แนวทางแก้ไขและพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อให้ชุมชนของตนเองนั้นอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข
คำว่า “อาสาคืนถิ่น” ที่ให้แสดงถึงความเป็นตัวตนของตัวเอง จะเปลี่ยนเป็นคำว่า “ปราชญ์ทางรอด” ซึ่งจะสอดคล้องกับโครงการที่ตัวเองตั้งใจทำนั่นคือ การพึ่งพาตนเองได้ในปัจจัยพื้นฐานในการดำเนินชีวิต สามารถอยู่รอดได้แม้เจอสถานการณ์บ้านเมืองที่วิกฤตโดยการพึ่งตนเองนั่นเอง ส่วนคำว่าปราชญ์นั้นหมายถึงผู้รู้ คำว่า“ปราชญ์ทางรอด” จึงอธิบายความเป็นตัวเองได้ว่า เป็นนักอยู่รอดที่มีทักษะและพร้อมที่จะถ่ายทอดทักษะนั้นแก่ผู้อื่น
อิกคิว อภิสิทธิ กรฤทธิ์
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดอุตรดิตถ์
คำว่า”อาสาคืนถิ่น” นั้นจะมีความพิเศษกว่าบุคคลที่ไม่ได้อาสา อาสามาจากความสมัครใจหาใช่บังคับใครมาทำเพียงให้เสร็จ และผ่านพ้นภารกิจไป แต่หากเป็นบุคคลที่มีจิตใจกว้างขวาง มีจิตใจรับใช้แล้วสามารถทำงานที่ตนเองอาสาที่จะทำให้สำเร็จไปด้วยความปรารถนาดีและความรัก ส่วน “คืนถิ่น” นั้น ก็มิใช่ใครก็ได้อีก เพราะการคืนถิ่นในนิยามของเราคือคืนถิ่นเดิมยังไงให้คงความเท่ กลับมาอยู่บ้านทั้งทีก็ทำตัวให้เกิดประโยชน์กับคนรอบข้างหน่อย รวมๆแล้วอาสาคืนถิ่นคือคนที่จะนำความรู้มาพัฒนาชุมชนที่ตัวเองอยู่ให้มีประสิทธิภาพ เป็นสังคมที่ไม่ทำร้ายกันและกัน และทำหน้าที่คนรุ่นใหม่ที่คอยซัพพอร์ท หาข้อมูล ให้คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ปู่ย่าตายาย
เรียกอีกอย่างว่า “นักจัดการชุมชน” ไม่ว่าเรื่องอะไรถ้าเป็นงานที่ค่อนข้างเป็นทางการที่มีเอกสารมา นอกจากผู้ใหญ่บ้านแล้วก็ตัวข้าพเจ้านี่แหละที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ให้ข้อมูล เรียงลำดับขั้นนตอน ดูแลเรื่องเทคโนโลยีให้กับคนในชุมชน คนไหนต้องการให้ช่วยเขาก็โทรมาปรึกษา ส่วนคนไหนที่ต้องการความด่วนเขาขับมอไซด์เข้ามาหาถึงที่บ้าน ก็เป็นอารมณ์ที่รู้สึกแปลกๆดี มิใช่เพียงที่มีแต่คนเข้ามาหาเรา บางครั้งเราเองก็ต้องเข้าหากลุ่มเป้าหมายที่เราจะทำงานด้วย เพื่อปูทางให้การทำงานมันคล่องตัว และเกิดความสัมพันธ์ที่ดี
แอมมี่ กัญธิมา มงคลดี
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดพะเยา
บุคคลที่อาสาเพื่อกลับมาพัฒนาและทำประโยชน์ที่บ้านเกิด ต้องมีความเสียสละ กล้าคิด กล้าทำ มีบทบาทเป็นตัวอย่างให้กับชุมชน ในการช่วยเหลือ สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างแข็งขัน ทั้งการพัฒนาพื้นที่ สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ แนะนำแก่ชุมชน
บุคคลที่อาสากลับมาพัฒนาชุมชน ต้องมีส่วนร่วมในชุมชน ทำให้เห็นคุณค่า เห็นความสำคัญของชุมชน ถ้าเปรียบก็คือคำว่า “คนรุ่นใหม่รักบ้านเกิด”
เอ็ม สราวุฒิ หอมสมบัติ
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดเชียงราย
ระหว่างคำว่า “อาสา” สำหรับเรามีความหมายว่า Volunteer การทำโดยสมัครใจทำโดยไม่หวังผลตอบแทน และ “คืนถิ่น” ที่มีความหมายว่า Come back home อยู่ในถิ่นของตนเอง พื้นที่ จังหวัดบ้านเกิดที่อยู่ของตนเอง หรือการกระทำบางอย่างโดยสมัครใจในถิ่นของตนเอง
“สานพลังเพื่อบ้านเกิด คนกล้าคืนถิ่น อาสาคืนถิ่น” ทั้งหมด 3 คำนี้ สามารถที่จะทำให้เราเกิดเป็นคำใหม่ว่า “นักธุรกิจเพื่อชุมชน” อาสาทำด้วยใจไม่ได้หวังผลตอบแทน และคำนึงถึงการกลับมาในพื้นที่ของตัวเอง อาสาคืนถิ่นแบบทำอะไรด้วยความสมัครใจในพื้นที่ที่เราพอใจ
โอ้ พัฒนชัย ลิมไธสง
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดบุรีรัมย์
คำว่า “อาสา” ตามความเข้าใจ คือการสมัครใจ หรือการเสนอตัวเข้ารับทำสิ่งนั้นๆ ด้วยความเต็มใจ ส่วนคำว่า “คืนถิ่น” ตามความเข้าใจ คือ การกลับไปยังถิ่นฐานเดิมที่เคยจากมา อาจจะเป็นบ้าน, ชุมชน หรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ดังนั้น คำว่า “อาสาคืนถิ่น” ตามความเข้าใจ คือ การสมัครใจหรือการเสนอตัวที่จะกลับไปยังถิ่นฐานเดิมที่เคยจากมาด้วยความเต็มใจต้องมีส่วนร่วมกับชุมชน อย่างสมัครใจและเต็มกำลังความสามารถ มีน้ำใจ มีความเสียสละ เห็นประโยชน์ส่วนรวมเป็นกิจที่ต้องให้ความสำคัญ เป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังความคิดเห็นจากทุกๆ เสียง มีความเป็นผู้นำ และผู้ตาม รวมถึงเป็นผู้ประสานงานที่ดี มีความเข้าใจชุมชน ทั้งด้านทรัพยากร สังคม และเศรษฐกิจ เป็นอีกหนึ่งกำลังเล็กๆ ของชุมชน ที่คอยผลักดัน ส่งเสริม สนับสนุนให้ชุมชนมีความเจริญ และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
จนทำให้เกิดความหมายใหม่เช่นคำ “หอบฝันคืนนา” เป็นคำธรรมดาๆ ที่ฟังแล้วสัมผัสได้ถึงความตั้งใจที่จะกลับมายังถิ่นฐานเดิมที่เคยจากมา พร้อมกับความฝัน ที่จะต้องลงมือทำ เพื่อให้มันเป็นมากกว่า แค่ความฝัน
แฮ็คส์ เยาวลักษณ์ บุญตา
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดบุรีรัมย์
การเสียสละเป็นตัวแทนทำในสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อคนอื่นๆ ไม่ใช่แค่เพื่อประโยชน์ส่วนตน มีลักษณะ เป็นคนชอบช่วยเหลือ เป็นผู้นำให้ผู้อื่นได้ด้วยความเต็มใจมีน้ำใจ
และคำว่า “กล้าก้าว” ในความหมายใหม่ยังสามารถสื่อให้เห็นถึงความกล้าที่เราจะเข้ามาในอาสาคืนถิ่นรุ่น5 เข้ามาทำในส่วนที่ใจเราต้องการ เริ่มต้นเรียนรู้ที่จะกลับมาพัฒนาชุมชนของตนเอง
คลิ๊ก ศศิภาตา งามน้อย
อาสาคืนถิ่นรุ่น 5 จังหวัดสมุทรสงคราม
อาสาคืนถิ่น รุ่น 5