การได้กลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิดถือเป็นความฝันของใครหลายคน เพราะ ‘บ้าน’ เป็นเหมือน ‘พื้นที่ปลอดภัย’ เป็นเซฟโซนไม่กี่แห่งที่รอรับเราในวันที่พลาด ท้อแท้หรือผิดหวัง หรือแม้แต่วันที่เราอยากจะผลักดันตัวเองให้ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงใดๆ ก็ตาม ผลสำรวจจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี 2566 เผยว่าการย้ายถิ่นของคนไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลหลักในด้านการงาน รองลงมาคือ ด้านครอบครัวซึ่งเป็นการย้ายเพื่อติดตามคนในครอบครัว และทำกิจการครอบครัว ซึ่งวิกฤติโควิด-19 ก็ถือเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนย้ายกลับบ้านมากขึ้น เนื่องจากการปรับรูปแบบการทำงานเป็นแบบ Work from Home (WFH) แม้ว่าสถานการจะคลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่ในหลายสายงานก็ยังใช้การทำงานแบบ Hybrid การทำงานที่บ้านในยุคนี้จึงเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมมากกว่าเดิม

การกลับบ้านสำหรับบางคนอาจดูเป็นเรื่องง่าย แต่การกลับมาใช้ชีวิตที่บ้านโดยไร้ซึ่งปัญหากลับไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะส่วนใหญ่มักจะต้องเจอกับคำถามว่า กลับมาแล้วจะทำอะไร? กลับมาแล้วจะอยู่ได้เหรอ? นอกจากนั้นคนที่ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านนานๆ เมื่อได้กลับมาใช้ชีวิตที่บ้าน ก็อาจกลับมามองเห็นอะไรหลายอย่างมากขึ้น ทั้งปัญหาที่มีในครอบครัว ไปจนถึงปัญหาที่มีในชุมชน ทำให้เหล่าคนย้ายถิ่นต้องหาวิธีการที่จะกลับมาอยู่บ้านได้อย่างมั่นคง และปลอดภัย

‘โครงการอาสาสมัครเพื่อสังคมร่วมสร้างพลังชุมชนสู่สังคมสุขภาวะ’ หรือ ‘อาสาคืนถิ่น’ เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) มีเป้าหมายคือการสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ที่มุ่งมั่นจะกลับไปทำงานในชุมชนของตนเอง สามารถมองเห็นทิศทางการอยู่รอด และสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน พร้อมกับการเชื่อมโยงกับเครือข่ายคนทำงานในท้องถิ่นและการพัฒนาศักยภาพทั้งทักษะความคิดจิตใจให้พร้อมกลับไปเขย่าชุมชน รวมไปถึงการพัฒนามิตรภาพสานพลังเครือข่ายให้เชื่อมโยงกันอย่างแข็งแรง

ปัจจุบันอาสาคืนถิ่นเดินทางมาถึงรุ่นที่ 7 แล้ว และเป็นเวลาครบ 10 ปีเต็มที่มอส. ได้ดำเนินโครงการมาแล้วเช่นกัน

ในวาระที่อาสาคืนถิ่นรุ่น 7 กำลังจะจบวาระหลังเรียนรู้และผ่านประสบการณ์มาเป็นเวลา 1 ปีเต็ม  เราเลยอยากดึงน้ำเสียง ความคิด ประสบการณ์และความท้าทายผ่านตัวแทนทั้ง 6 คน จาก 5 ภูมิภาคของประเทศไทย ว่าพวกเขาแต่ละคนต้องเรียนรู้และเติบโตในบ้านของตัวเองยังไงบ้าง  https://thaivolunteer.org/project/return-homeland/

กลับมารู้จักบ้าน เตรียมพร้อมเขย่าชุมชน

สิ่งที่เหล่าอาสาคืนถิ่นได้พบเหมือนกันเมื่อกลับไปที่บ้านมักจะไม่พ้น ‘ปัญหาการรู้จักชุมชนของตัวเองไม่มากพอ’ ทำให้ในการดำเนินโครงการกลายเป็นจุดที่ทำให้พวกเขาได้ทบทวนเกี่ยวกับชุมชนของตัวเองมากขึ้น และได้เรียนรู้ยุทธวิธีที่สามารถนำมาปรับใช้ในการเขย่าชุมชนของตัวเองได้อย่างเหมาะสม

นิศาชล วงศ์สวัสดิ์ นักศึกษาบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จาก อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช หนึ่งในผู้จัดทำโครงการ ‘อยู่แต่สวน’ ที่อิ่มตัวจากการใช้ชีวิตในเมืองกรุง และได้เข้าร่วมโครงการอาสาคืนถิ่นเพื่อการพัฒนาสังคมผ่านการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กในชุมชน เธอได้เล่าว่าในการกลับมาบ้านช่วงแรกเธอต้องเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับหลายอย่างใน อำเภอพิปูนเพราะได้ห่างไปนานจนไม่ค่อยรู้จักชุมชนนี้มากนัก

“ปัญหาคือเรายังไม่รู้จักชุมชนของเรามากพอ ในหมู่บ้านเราไม่มีโรงเรียนมัธยม แต่เราเปิดรับสมัครเด็กที่อายุ 17-25 ก็ทำให้ไม่มีใครมาร่วมโครงการที่เราจัด”

ในการเข้าร่วมอาสาคืนถิ่นยังทำให้ นิศาชล ได้ไปรู้จักการทำงานกับคนกลุ่มใหม่ๆ ได้ไปพูดคุยกับคนในหมู่บ้าน ทั้งกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ปราชญ์ชุมชน และหน่วยงานระดับท้องถิ่น ที่สำคัญคือการได้เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการทำกิจกรรมของเด็กในหมู่บ้าน โดยเธอมองว่าตัวเองนั้นได้เติบโตไปพร้อมกันกับการเข้าร่วมโครงการอาสาคืนถิ่น และยังเล่าอีกว่า สิ่งที่เธอได้รับจากโครงการนี้ คือการได้รู้จักชุมชนของตัวเองมากขึ้นเพื่อเลือกกระบวนการพัฒนาเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนลงสนามเขย่าชุมชน

“เราเริ่มจากศูนย์และโตไปพร้อมกับอาสาคืนถิ่น แตกต่างกับคนอื่นที่เขาเริ่มมาก่อนแล้ว เรากล้าพูดว่าเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็ก ได้เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ทำให้เด็กไว้วางใจ กล้าบอกเล่าเรื่องราวที่พวกเขาเจอให้เราฟัง สุดท้ายแล้วเราก็ได้เรียนรู้ว่าในอนาคตถ้ายังอยากขับเคลื่อนพื้นที่ของเราต่อไป เราก็ต้องรู้จักชุมชนของเราให้มากกว่านี้”

เช่นเดียวกับ สุวิภา ตรีสุนทรรัตน์ Facilitator ฟรีแลนซ์ จากอำเภอแก่งคอยจังหวัดสระบุรี ผู้จัดทำโครงการ ‘แก่งคอยไกด์’ โดยมีจุดเริ่มต้นจากความต้องการกลับบ้านมาเพื่อสร้างสมดุลระหว่าง การทำงานเพื่อสังคม รายได้ และครอบครัว  ที่เธอมองว่าเป็น 3 ส่วนสำคัญของการดำรงชีวิต โดยแรกเริ่มของการกลับมาบ้านเธอต้องใช้เวลาในการปรับตัวและทำความเข้าใจครอบครัวมากกว่าเดิม 

 เป้าหมายของสุวิภาในการกลับมาเขย่าชุมชนครั้งนี้คือการพัฒนา อำเภอแก่งคอย ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของคนในชุมชน ซึ่งมีความท้าทายคือ การที่ชุมชนยังขาดคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพและสนใจมาร่วมพัฒนาแก่งคอยไปด้วยกัน เมื่อได้พูดคุยกับที่บ้านเยอะขึ้นก็ทำให้ที่บ้านเข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนไปด้วยกัน เธอได้เล่าถึงการทำงานร่วมกับอาสาคืนถิ่นทำให้ได้รับประสบการณ์ กระบวนการทำงานรูปแบบใหม่ๆ และสามารถนำมาปรับใช้กับการพัฒนาพื้นที่เล่นของเด็กๆ ในอำเภอแก่งคอย และยังได้เชื่อมสัมพันธ์กับคนในครอบครัวทำให้ได้เข้าใจกันและกันมากขึ้น

“ระยะเวลา 1 ปีในโครงการทำให้เติบโตขึ้น ได้รู้จักครอบครัวและชุมชนของเรามากขึ้น เรามีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นว่าสามารถทำงานที่บ้านได้ และได้เห็นว่าเราสามารถดำเนินงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ สุดท้ายแล้วเราก็ผ่านมาด้วยการทำ ‘พื้นที่เล่น’ ที่มีคนทำงานในประเด็นสังคมให้ความสนใจพร้อมจะทำ และเหนื่อยไปกับเรา”

สืบสาน พัฒนา ต่อยอด ‘อัตลักษณ์ชุมชน’

นอกจากการได้เรียนรู้เกี่ยวกับชุมชนของตัวเองแล้ว สิ่งที่เหล่าอาสาคืนถิ่นมีจุดร่วมที่คล้ายกันอีกอย่างคือความต้องการที่จะสร้างเสริมและสืบสานอัตลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชน ให้มีความเข้มแข็งและเป็นที่รู้จักมากกว่าเดิม เพื่อให้บ้านของพวกเขาเป็นบ้านที่แข็งแรง

ณัฐปคัลภ์ เข็มขาว นักสำรวจชุมชน จากจังหวัดน่าน คนทำหนังที่อยากสืบสานประวัติศาสตร์ของช้างในชุมชนของตนผ่านการจัดทำโครงการ ‘ทุ่งช้าง เมืองที่ไม่มีช้าง’ เป็นการฉายหนังเกี่ยวกับช้างให้เด็กและคนในชุมชนดู พร้อมทั้งสร้างพื้นที่การเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมให้กับเด็กในชุมชน โดยเปิดให้เด็กๆ ได้ทำกิจกรรมวาดรูป เล่นดนตรีพื้นเมือง โครงการนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการอยากบอกเล่าเรื่องราวของ อ.ทุ่งช้าง ที่ในอดีตเคยเป็นพื้นที่เลี้ยงช้างมาก่อนแต่ในปัจจุบันกลับไม่มีช้างหลงเหลืออยู่แล้ว ณัฐปคัลภ์ เล่าว่าการเข้าร่วมโครงการอาสาคืนถิ่นทำให้เขาได้ตกตะกอนทางความคิด ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานกับเด็กในชุมชน และในอนาคตเขาก็อยากจะพัฒนาผ่านการทำการท่องเที่ยวในชุมชนเพื่อให้ชุมชนของเขาได้เขย่าและเป็นที่รู้จักมากขึ้น

“จากเดิมเราสนใจเฉพาะเรื่องภาพยนตร์กับช้างด้วยซ้ำ แต่พอได้เข้าร่วมโครงการมันก็แตกแขนงได้มากขึ้น การทำกิจกรรมมันก็ทำให้เราเติบโต ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้ผมได้เรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกับเด็กในชุมชน เพื่ออนุรักษ์หรือสร้างการเรียนรู้ ในอนาคตอยากทำการท่องเที่ยวชุมชน โดยพาคนจากข้างนอกมาดูช้างที่บ้านเรา ที่ในตอนนี้มันไม่หลงเหลือแล้ว”

อธิศ หาความสุข นักพัฒนาชุมชนจากชุมชนบ้านปากน้ำ จังหวัดระยอง เองก็เป็นอีกหนึ่งคนที่มีเป้าหมายในการสร้างเสริมอัตลักษณ์ชุมชนบ้านปากน้ำ ด้วยการจัดทำโครงการ ‘กางเกงเล กระเบนธง บ้านปากน้ำระยอง’ เพื่อส่งเสริมสินค้าชุมชนอย่าง ‘กางเกงเล’ ที่ผลิตโดยคนในชุมชนด้วยความประณีต และมีเป้าหมายในการเขย่าชุมชนด้วยการส่งเสริมให้ชุมชนปากน้ำเป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็งและมีการเติบโตที่ดีกว่าเดิม ในตอนแรกอธิศ มีความคาดหวังเพียงว่าการเข้าร่วมโครงการอาสาคืนถิ่นเพื่อเป็นอีกช่องทางที่ทำให้เธอได้เจอกับคนรุ่นใหม่ที่อยากเข้ามาร่วมพัฒนาชุมชนด้วยกัน แต่เมื่อได้ร่วมกระบวนการในแต่ละครั้งก็ทำให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่มากกว่าความคาดหวัง อย่างรูปแบบการทำงานที่สามารถนำมาต่อยอดและพัฒนาชุมชนปากน้ำได้ นอกจากนั้นยังเป็นอีกพื้นที่ที่ทำให้ได้พบกับมิตรภาพใหม่ๆ อีกด้วย

“เห็นเขาประกาศหาคนรุ่นใหม่มาร่วมโครงการ แล้วทีมเราก็ขาดคนรุ่นใหม่หรือรุ่นเดียวกันที่จะมาช่วยพัฒนาชุมชนเรา เราก็เลยเข้าร่วมเพราะอยากมาสร้างเครือข่ายด้วยกัน พอได้ร่วมโครงการก็ได้อะไรมาเยอะ เราอยู่ชุมชนเราเรายังไม่เคยมาถอดกระบวนการแบบนี้เลย เราออกมาแบบนี้เราได้รับประสบการณ์ได้รับความรู้เยอะ เราได้เติบโตผ่านการเดินทางออกมาหาประสบการณ์ใหม่นอกพื้นที่ของเราเพื่อนำมาพัฒนาชุมชนของเรา”

ถึงจะเหนื่อย แต่ไม่ถอย

ในทุกการเดินทางมักจะต้องมีแรงเสียดทานหรืออุปสรรคที่ทำให้เราต้องหยุดชะงัก อย่างที่เราได้กล่าวไปในช่วงต้น สังคมไทยมักตั้งคำถามกับคนที่ออกไปอยู่ต่างถิ่นแล้วกลับมาทำงานที่บ้านว่า กลับมาทำไม? หลายคนก็คิดไปก่อนแล้วว่าคนที่กลับมาบ้านจะต้องเป็นพวกที่ล้มเหลวมา ไม่ก็เป็นพวกคนรุ่นใหม่เหลาะแหละที่กลับมาเกาะพ่อแม่ สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนบททดสอบที่เหล่าอาสาคืนถิ่นต้องก้าวข้ามและทำให้ชุมชนได้เห็นว่าพวกเขาสามารถกลับมาอยู่ที่บ้านได้อย่างปลอดภัย

“เราไปเรียนมหาลัยต่างจังหวัดมันก็เหมือนเป็นคนนอกไปซะแล้ว เราก็รู้จักชุมชนเราน้อยไปเลย เพราะฉะนั้น การตั้งคำถามของชาวบ้านก็เยอะอยู่เหมือนกัน ว่าจะมาทำอะไรแล้วก็สิ่งที่เราทำมันก็ไม่ได้ว่าจะถูกตาไปซะหมด แล้วเขาก็ไม่เคยเห็นว่าเราทำอะไรมาก่อนด้วย”

พิชญะ เศษศรี จากอำเภอเฝ้าไร่ จังหวัดหนองคาย ได้จัดทำโครงการ ‘เฝ้าไร่ เฝ้ารู้’ แหล่งพื้นที่สร้างสรรค์ที่มีเป้าหมายเพื่อเป็นทางผ่านของการเรียนรู้สำหรับเด็กในชุมชนที่มีปัญหาการขาดพื้นที่เรียนรู้และมีความเหลื่อมล้ำเรื่องการศึกษาสูง พิชญะ ถูกท้าทายด้วยโจทย์ที่ว่า เป็นเด็กจบใหม่จะทำได้เหรอ นอกจากนั้นยังมีความท้าทายอีกอย่างคือการทำงานเพื่อสังคมในพื้นที่ที่มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาค่อนข้างสูง แม้จะทั้งเหนื่อยและล้าจากแรงเสียดทานของคนรอบข้างที่คอยตั้งคำถาม แต่พิชญะก็ไม่ได้ถอดใจ ยังมุ่งมั่นที่จะเขย่าชุมชนผ่านการเปิดพื้นที่ให้เด็กๆ ทำกิจกรรมเรียนรู้เกี่ยวกับอาหารในชุมชนเฝ้าไร่ การได้ทำงานในพื้นที่ของตัวเองทำให้พิชญะเกิดความรู้สึกว่าสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่และอิสระ ผลตอบรับที่ค่อนข้างดีทำให้พิชญะเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาโครงการนี้ต่อไปได้ และในอนาคตก็อยากส่งต่อรากฐานนี้ให้กับอาสาสมัครรุ่นใหม่ในชุมชนได้เขย่ากันต่อไป

“ต้องยอมรับว่าเราทำคนเดียวมันเหนื่อย หลังๆ มา ก็เริ่มเปิดรับอาสา ซึ่งอาสาที่มาก็เป็นอาสาจากพื้นที่ทั้งหมดและอยู่ในวัยเรียน เพราะฉะนั้น เราใช้ช่องทางนี้ที่จะผลักดันในสิ่งที่เขาอยากไปต่อ ส่งต่อกระบวนการที่เราทำ”

ทางด้าน อรณี แซ่ว้าน จากพื้นที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ผู้ร่วมจัดทำโครงการ ‘LALAPOR’ เพื่อพัฒนาเด็กและคนในชุมชนบ้านปะน้อยปู่ อ.ท่าสองยาง ก็ได้พบกับความท้าทายจากการตั้งคำถามของชุมชนเช่นกัน แต่เพราะรู้ตัวเองดีว่ากลับมาพัฒนาสิ่งเหล่านี้เพื่ออะไรกันแน่ ก็ทำให้เธอสามารถปล่อยผ่านคำถามเหล่านั้น และมุ่งมั่นพัฒนาชุมชนต่อไป เพื่อทำให้พวกเขาได้เห็นว่าเธอทำได้

“ตอนกลับบ้านก็โดนถามว่าจะกลับมาทำอะไร จะอยู่ได้เหรอ แต่เราก็ไม่ได้สนใจเพราะไม่ได้กลับมาอยู่เฉยๆ เราทำกิจกรรม ให้เด็กได้เรียนทำสี ระบายสี เรียนทอผ้ากับผู้ใหญ่ในชุมชน พอเห็นแบบนั้นเขาก็ยอมรับเรามากขึ้น เมื่อก่อนเราก็ทำแค่กิจกรรม พอมีอาสาคืนถิ่นแล้วเราได้มีส่วนร่วมกับคนในชุมชนก็ได้เข้าใจกันและกันมากขึ้น”

อรณียังเล่าอีกว่าการเข้าร่วมโครงการอาสาคืนถิ่น ทำให้เธอได้เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ใหญ่และเด็กในชุมชน ผ่านการทำงานศิลปะและการทอผ้า โดยเธอได้คิดวิธีที่จะเขย่าชุมชนผ่านกระบวนการและการสร้างสรรค์สื่อ การสื่อสาร และได้เชื่อมเมืองกับชุมชนเข้าด้วยกัน ผ่านสินค้าของชุมชน ทำให้ทั้งเธอและชุมชนเกิดความปลอดภัยด้านความรู้สึก และเธอยังเล่าอีกว่า ในอนาคตเธอมีแผนจะพัฒนาหลักสูตรทอผ้าร่วมกันกับโรงเรียน กศน. ในชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับ ‘ผ้าทอ’

“พอมันเป็นงานที่เราชอบแล้วเรากลับไปทำเราก็สบายใจกับมัน มันมีความสุขทั้งกับเราและคนที่มาทำงานกับเรา น่าจะเป็นเรื่องของความปลอดภัยในด้านความรู้สึก เราก็เป็นความหวังเล็กๆ ให้ชุมชนของเรา เพราะตอนแรกพวกผู้ใหญ่ที่เขาทอผ้าเขาก็ทอเป็นวิถีชีวิตของเขาไป แต่พอมีเราเข้าไปทำงานด้วยเขาก็มีความรู้สึกว่า เขาสามารถสร้างรายได้และมีช่องทางในการมีรายได้เพิ่มจากตรงนี้ เวลาเขามีไอเดียหรือสินค้าที่เขาอยากทำก็มาคุยกับเราได้ เราก็เหมือนเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเขาไปด้วย”

การเขย่าชุมชนของเหล่าอาสาได้รับจากโครงการอาสาคืนถิ่น ไม่ได้มีเพียงวิธีการแก้ไขปัญหา และประสบการณ์ทำงานใหม่ในการชุมชนเพียงเท่านั้น อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่พวกเขาได้พบเจอด้วยกันจากทั้ง 4 Module คือ ‘มิตรภาพ’ พวกเขาได้เป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ ได้แลกเปลี่ยนและส่งต่อกำลังใจให้กันและกัน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายๆ เพราะฉะนั้น อาสาคืนถิ่น จึงเป็นเหมือนตัวกลางที่คอยเชื่อมโยงเครือข่ายของกลุ่มคนรุ่นใหม่ และช่วยเสริมสร้างกระบวนการทำงานกับชุมชน เป็นพื้นที่สร้างทั้งการเรียนรู้และมิตรภาพให้กับพวกเขา เพื่อให้เหล่าอาสาสามารถกลับไปอยู่บ้านได้อย่างปลอดภัยและมีความสุขไปกับการสร้างประโยชน์ให้ชุมชน

‘ปิ๊กเฟส’ วัยเราเขย่าชุมชนไปด้วยกัน

‘ปิ๊กเฟส’ หรือ ‘Peakfest2024’ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2567 ณ ถนนเลียบโขง หน้าโรงเรียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นเทศกาลที่เชิญชวนให้คนรุ่นใหม่กลับบ้านได้มาพบปะกันในรูปแบบของเวทีกิจกรรมสาธารณะ ที่มีการเปิดพื้นที่กิจกรรม Workshop จากอาสาคืนถิ่นให้ผู้เข้าร่วมงานได้เข้ามามีส่วนร่วม มีการเปิด Booth ร้านค้าจากอาสาคืนถิ่น ภายในงานยังมีการแสดงของอาสาคืนถิ่น ไม่ว่าจะเป็น การแสดงวงดนตรี การฉายหนัง อีกทั้งยังมีการจัดเวทีเสวนา Generation Change ‘วัยเราเรา เขย่าเมือง’ ที่ชวนให้ตัวแทนของคนในแต่ละ Generation ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างพื้นที่ชุมชนได้มาพูดคุย แลกเปลี่ยนบทบาทและประสบการณ์ร่วมกัน 

ณิชา สวัสดิ์ธนาคูณ อาสาคืนถิ่นรุ่น 7 จ.สระบุรี ผู้ร่วมก่อตั้ง ‘แก่งคอยไกด์’ ได้เล่าผ่านเวทีเสวนาว่า ในการทำงานสังคมของเธอนั้นเริ่มมาด้วยการทำงานที่ไม่ได้หวังผลมาก่อน แค่รู้สึกว่าชอบและอยากทำสิ่งนี้ด้วยแพชชั่น ด้วยความที่ในชุมชนของเธอนั้นมีผู้ใหญ่มากกว่าคนรุ่นใหม่ และประจวบการที่เธอได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการอาสาคืนถิ่นได้ติดเครื่องมือและความรู้มากขึ้นจึงได้มีโอกาสทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ในการทำงานเพื่อชุมชน

“เรามองว่าตรงนี้มันคือการเขย่าเมืองของเรา ไม่ว่าผู้ใหญ่หรือเด็กต่างฝ่ายต้องรับฟังกันให้มาก แล้วจะค่อยๆ รู้ ค่อยๆ เข้าใจวิธีการของพวกเขา บางทีมันอาจทำให้เราทำงานนั้นได้ง่าย”

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการ Speech ใน Peak Change : Turning Peak Speech ที่เปิดพื้นที่ให้เหล่าอาสาคืนถิ่น ได้มาแสดงออกถึงจุดเปลี่ยนในการกลับบ้านเพื่อตามหาความฝัน เกวลี ศรีสุข อาสาคืนถิ่นรุ่น 7 ที่กลับบ้านมาทำ ทวีสุขฟาร์มคาเฟ่ Taweesuk organic farm and market เผยว่าในการเลือกกลับบ้านครั้งนี้เธออยากจะกลับมาเพื่อพัฒนาการเกษตรด้วยความเชื่อว่าถ้าเกษตรกรที่อื่นทำได้ และอยากเห็นเชียงของเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับคนรุ่นใหม่ อยากเห็นเพื่อนๆ พี่ๆ ที่กำลังเติบโตไปได้กลับมาที่บ้าน โดยมีคนที่บ้านยังคอยโอบอุ้มเขาคอยซัพพอร์ตคอยแนะนำ

“เมืองก็พึ่งคนและคนก็ต้องพึ่งเมือง แต่ถ้าเมืองนั้นไม่มีคนมันก็เป็นเมืองไม่ได้ เราและเพื่อนๆ อาสาคืนถิ่นก็คาดหวังว่าในชุมชนของตัวเองจะเป็นพื้นที่ปลอดภัย คาดหวังว่าเราเติบโตมาในพื้นที่ของตัวเองและเราก็จะสามารถเติบโตไปจนแก่ได้ในพื้นที่ตัวเอง”

บทเรียนจากเหล่าอาสาคืนถิ่น ทำให้เราได้รู้ว่าการสร้างชุมชนหนึ่งให้แข็งแรงและเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนได้นั้น ต้องใช้ทั้งความเข้าใจและความร่วมมือของคนในชุมชน เพราะคนเพียงคนเดียวคงไม่สามารถเชื่อมเมืองเข้าด้วยกันได้ทั้งหมด เราเองก็เชื่อเหมือนกันว่า เมืองจะเป็นเมืองที่ดีขึ้นได้ หากคนทุกวัยมาร่วมสร้างสรรค์และขับเคลื่อนเมืองไปด้วยกัน ช่วยทำให้บ้านได้กลายเป็นเบาะนุ่มๆ และอ้อมกอดอุ่นๆ ที่คอยรอรับคนรุ่นใหม่ ให้พวกเขาสามารถอยู่ในชุมชนไปด้วยกันได้อย่างปลอดภัย