WORK FROME HOME กับอาสาคืนถิ่น

หลายคนต่างตั้งคำถามต่อโครงสร้างของประเทศเรา ตั้งแต่การขุดรากลึกลงไปในระบบขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงภาพรวมใหญ่ๆ ของการบริหารประเทศของรัฐบาล การที่คนรุ่นใหม่ลุกฮือขึ้นมาศึกษา ตั้งคำถาม และหาคำตอบที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศของเราให้ดีขึ้นนั้น นับเป็นความกล้าและความท้าทายที่น่าจับตามอง แม้ว่าความท้าทายที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ดูเหมือนจะเป็นการต่อสู้เพื่อความหวังที่ยืดเยื้อยาวนานก็ตาม

กระแสการย้ายประเทศกำลังถูกพูดถึงอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ กระแสดังกล่าวเป็นเหมือนแสงสว่างรำไรในความมืดมิด ที่จะนำความหวังไปสู่การเริ่มต้นใหม่ ทำให้โอกาสที่จะก้าวหน้าไปกับสังคมในอุดมคติที่ใครหลายคนฝันไว้ ดูจะเป็นไปได้มากกว่าการคาดหวังให้หลายอย่างในประเทศของเราเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างสิ้นเชิง

ติดอาวุธทางใจ สร้างจุดยืนที่เข้มแข็งในยุคที่อยู่ยาก

เมื่อความสิ้นหวังปกคลุมพลังของคนรุ่นใหม่มากเท่าไร ก็เป็นที่น่ากังวลว่ากลุ่มคนซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นสังคมคุณภาพในอนาคตของบ้านเมืองเรา อาจถอดใจและเลือกที่จะหันหลังให้กับการต่อสู้มากขึ้นเท่านั้น

“กระแสการย้ายประเทศมาจากโครงสร้างทางการเมืองที่มันแย่ เมื่อทุกอย่างไม่พัฒนาก็มีแต่จะทำให้คนสิ้นหวัง” ศราวุฒิ เรือนคง นักกิจกรรม, นักพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ฟักทองพื้นบ้าน (หนึ่งในสมาชิกอาสาคืนถิ่น รุ่น 4) พูดเปิดประเด็นอย่างน่าสนใจ

ดูผิวเผินแล้วกระแสการย้ายประเทศค่อนข้างสวนทางกับโครงการอาสาคืนถิ่น แต่ความจริงแล้วทั้งสองกระแส ไม่ว่าจะเป็นการย้ายบ้านหรือการกลับบ้าน ต่างก็มีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือความพร้อมที่คนๆ นั้นจะต้องมี อธิบายง่ายๆ ก็คือไม่ใช่ทุกคนที่จะย้ายประเทศได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะกลับบ้านได้อย่างมั่นคงด้วย นี่จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่จะบอกทุกคนที่คิดถึงการกลับบ้านอย่างตรงไปตรงมาได้ว่า ‘ทำไมถึงต้องมีโครงการอาสาคืนถิ่น’

“ด้วยความที่เราเป็นนักกิจกรรม การลงมือทำหลายๆ อย่างช่วยให้เราติดอาวุธสร้างภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้การกลับบ้านของเราเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยากนัก แต่ในสถานการณ์ที่คนไทยต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ ขณะที่เรากำลังชวนให้คนอื่นกลับบ้านท่ามกลางกระแสทางเลือกที่ดีกว่ามากมากมาย  ยิ่งทำให้ต้องกลับมาทบทวนบางอย่าง และเราคิดว่าสิ่งที่จะทำให้โครงการอาสาคืนถิ่นของพวกเราช่วยจุดประกายคนรุ่นใหม่ให้กลับบ้านได้อย่างมืออาชีพได้นั้น จะต้องเป็นการสนับสนุนคนที่มีเป้าหมาย พร้อมเรียนรู้ และลงมือทำ” ศราวุฒิ เรือนคง กล่าวแสดงความคิดเห็น

เมื่อความจริงของสังคมถูกเผยให้เห็นอย่างปิดกั้นไม่ได้ เมื่อสภาพความเป็นอยู่และความพร้อมของทุกคนมีไม่เท่ากัน นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้ความพร้อมในการกลับบ้านของแต่ละคนต่างระยะเวลากันไป แต่หากคุณชัดเจนในตนเองแล้วว่าคุณมีเป้าหมายของการกลับบ้าน หรือมีธงบางอย่างในใจ เมื่อนั้นการกลับบ้านก็จะทำให้คุณได้พบกับความคุ้มค่าที่ตามหาในที่สุด
……………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

ในวิกฤตการณ์ที่ทั้งบ้านเราและทั่วโลกกำลังเผชิญกันอยู่ตอนนี้ ทำให้หลายคนที่ใช้ชีวิตอยู่ห่างไกลจากบ้านเริ่มหวนกลับคืนสู่ภูมิลำเนา ทั้งที่ตั้งใจกลับ กลับด้วยความสิ้นหวังหรือด้วยความจำเป็น  ไม่ว่าเหตุผลและความหวังในการกลับบ้านของคุณจะคืออะไรก็ตาม ในระหว่างที่คุณกำลังครุ่นคิดอย่างหนักเพื่อหาคำตอบและทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับชีวิต โครงการอาสาคืนถิ่น เราขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะเชิญชวนและสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่ได้กลับบ้านอย่างมีความสุข

ความคิดถึง ความห่วงใย และการโหยหาจุดยืนที่มั่นคงในที่พักพิงสุดท้ายของชีวิต (บ้าน) เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ใครหลายคนอยากกลับบ้าน ในขณะที่โครงการอาสาคืนถิ่นเป็นผู้ที่สนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่อยากคืนถิ่น ด้วยการจัดหาองค์ความรู้ มอบอาวุธทางความคิดและจิตใจให้ แต่มีข้อแม้ว่า การกลับบ้านของเราจะไม่ใช่แค่เพื่อตัวเราเอง

ความจริงแล้วการทำงานที่บ้าน หรือ Work From Home ในสถานการณ์ปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งในมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ในยุคที่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับวิกฤตสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid – 19) ซึ่งกินเวลามายาวนานกว่า 1 ปีแล้ว

แน่นอนว่าองค์กรหรือบริษัทน้อยใหญ่ต่างก็ต้องปรับตัว พนักงานออฟฟิศต้องเปลี่ยนแปลงบรรยากาศการทำงานมาอยู่ที่บ้าน ถึงแม้ว่าการทำงานในบ้านจะดูผ่อนคลายมากกว่า แต่ก็ยังคงมี Feedback เกี่ยวกับกระแส ‘WFH’ ออกมาอย่างหลากหลาย ซึ่งในที่นี้จะขอพูดถึง 2 ทิศทางหลักๆ ด้วยกัน คือ หนึ่ง, การทำงานที่บ้านทำให้ใครหลายๆ คนมีโอกาสได้หยิบจับและลงมือทำสิ่งอื่นที่สนใจนอกเหนือไปจากการทำงานประจำ รวมถึงยังได้ดื่มด่ำกับช่วงเวลาดีๆ ในการที่จะได้อยู่พร้อมหน้าพร้อมตากับคนในครอบครัว

ในขณะที่กลุ่มที่สอง, คือ คนที่ได้รับแรงกดดันทั้งจากการทำงานที่ขาดความลื่นไหล หรือประสิทธิภาพในการทำงานเป็นทีมลดลง ตลอดจนความกดดันใหม่ของสังคมที่มีมากขึ้น ช่วงเวลานี้จึงเป็นสภาวะที่บีบบังคับให้ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยความกดดันเหล่านี้ ก็ย่อมก่อให้เกิดทั้งความเครียด ความวิตกกังวล ตลอดจนความกลัว ซึ่งส่งผลต่อจิตใจของใครหลายคนอย่างมากทีเดียว

ดังนั้นแล้ว ท่ามกลางสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองที่ตึงเครียด ชวนให้จิตใจปั่นป่วน ในยุคสมัยที่คนควรมีทางเลือกที่ดีเพิ่มมากยิ่งขึ้น ‘อาสาคืนถิ่น’จึงจะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงเครื่องติดอาวุธให้กับคนที่ตั้งใจกลับบ้านเท่านั้น

เพราะด้วยสถานการณ์ที่ทำให้ทุกอย่างดูยากขึ้นอย่างในขณะนี้ เราจะเป็นอาวุธให้กับคุณด้วย อาวุธที่จะทำให้ทุกคนที่ตั้งใจกลับบ้าน ได้กลับบ้านอย่างมีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ

ว่าด้วยกระแสการทำงานที่บ้าน (Work From Home) ในคำว่า ‘บ้าน’ คำๆ เดียวกันอาจให้ความหมายที่ต่างกันออกไป บ้านสำหรับบางคนหมายถึงบ้านจริงๆ ที่มีคนในครอบครัวอาศัยอยู่ร่วมกัน สำหรับบางคนบ้านอาจหมายถึงห้องพักรายเดือนที่ใช้พักพิงในขณะทำงานต่างที่ต่างถิ่น และสำหรับคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งบ้านของเขาหมายรวมไปถึงชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ด้วย ในบทความนี้ได้ชวนตัวแทนอาสาคืนถิ่นรุ่นที่ผ่านมา (รุ่น 4) มาแลกเปลี่ยนไอเดีย และร่วมกันถอดความหมายของคุณค่าที่ซ่อนอยู่ใน Work From Home

ทำงานที่บ้าน ในแบบฉบับของชาวอาสาคืนถิ่น

“การอยู่บ้านทุกวันของเราก็คือการทำงาน เพียงแต่เป็นวิถีที่เราได้บริหารจัดการเอง ต้องเรียบเรียงโปรเจกต์ที่จะทำ มีทักษะที่เราจะต้องอัปเดต ต้องลองปฏิบัติจริง เสร็จแล้วก็ต้องแปรรูปผลิตภัณฑ์ ทุกอย่างเราต้องวางแผน ซึ่งไม่ได้ต่างกันเลยกับการทำงานในที่อื่นๆ” ศราวุฒิ เรือนคง (อาสาคืนถิ่น รุ่น 4)

“ในสถานการณ์ตอนนี้เราไม่ได้รับผลกระทบเรื่องงาน เพราะเราอยู่ในชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างปลอดภัยอยู่แล้ว ถ้าจะกระทบคงเป็นเรื่องความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid – 19 มากกว่า เรากลับบ้านมาทำงานที่ตัวเองอยากทำ ได้หาโอกาสที่ดีให้กับตัวเอง ดังนั้นคุณค่าในงานของเราหลังจากกลับบ้าน ก็คือการได้ทำสิ่งที่ต้องการด้วยตัวเราเอง ตอบสนองหัวใจตัวเอง และไม่ลืมที่จะขยายผลลัพธ์ดีๆ ไปสู่คนในชุมชนด้วย” ปาริฉัตร ดอกแก้ว (อาสาคืนถิ่น รุ่น 4)

“เนื้องานของคนที่ทำงานที่บ้านสำหรับเรา คือการตอบสนองความต้องการของตัวเอง เราเพิ่งเปิดร้านเสริมสวยหลังจากที่ตั้งใจจะเปิดมาหลายปีแล้ว พื้นที่ความสุขตรงนี้อยู่ในบ้านของเรา น่าภาคภูมิใจตรงที่เราได้อยู่กับครอบครัวด้วย ได้เจอหน้าทุกคน ทุกวัน นี่ละความสุขของการทำงานที่บ้าน” นุชนาฎ สว่างแก้ว (อาสาคืนถิ่น รุ่น 4)

กล่าวโดยสรุป คือ การทำงาน  (Work)  ของบรรดาอาสาคืนถิ่นเป็นการเรียนรู้ที่จะสร้างงานของตนเอง โดยฟังเสียงของหัวใจ (From) และลงมือปฏิบัติหยั่งลึกถึงบริบทชุมชนด้วย เพราะงานของพวกเราเป็นมากกว่าอาชีพ มากกว่าการคิดถึงรายได้ที่เราจะได้ และการเติบโตไปสู่จุดยืนที่มั่นคง  บ้านของเราเป็นมากกว่าบ้าน (Home) เพราะเมื่อชุมชนเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางที่ดีขึ้น ภาพรวมของคำว่าบ้านที่เราอาศัยอยู่จริงๆ จึงจะสมบูรณ์  นั่นก็หมายความว่า ‘งาน’ ของอาสาคืนถิ่น คือการลงมือทำบางสิ่งที่ตนเองรักอย่างห่วงใยคนในชุมชน ค่อยๆ เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และก้าวไปสู่สิ่งที่ดีขึ้นพร้อมๆ กัน

ความหมายของงานสำหรับพวกเราอาสาคืนถิ่น นั้นเต็มไปด้วยคุณค่า โดยเฉพาะในกระบวนการการเรียนรู้ของโครงการ ที่จะช่วยทำให้เราสามารถปลดปล่อยความต้องการจากภายในใจ เพื่อลงมือทำความฝันให้เกิดขึ้นจริงๆ ถึงแม้ว่าในช่วงเริ่มต้นของการเดินบนทางของตนเองนั้นจะยากลำบาก แต่ในท้ายที่สุดคำตอบของคนรุ่นใหม่กลับบ้านอาจไม่ใช่ความสำเร็จหรือล้มเหลว แต่ภายใต้กระบวนการเรียนรู้จากการกลับบ้านนั้นจะเป็นเข็มทิศช่วยชี้ทาง สร้างทั้งจุดยืน สร้างเครือข่าย และอย่างสุดท้าย คือ สร้างความภาคภูมิใจให้กับเราเอง

ดังนั้น การยืนเด่นบนจุดยืนที่มั่นคง เข้มแข็ง อย่างไม่หวั่นกลัวต่อแดดลมฝน จึงเป็นความตั้งใจของโครงการอาสาคืนถิ่น ที่มุ่งสนับสนุนให้คนรุ่นใหม่หวนคืนสู่บ้านของตนเองด้วยความสุขอย่างแท้จริง